แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2เพื่อนำสืบว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเท่ากับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งเรียกพยานเอกสารแล้ว ไม่ยอมส่งกรมธรรม์ประกันภัยตามคำสั่งศาลและไม่นำสืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์ต้องนำสืบโดยกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เต็มจำนวนเท่ากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายลำพองพงษ์เหล่าขำ ผู้ตาย และเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนายลำพอง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหกล้อและเป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถยนต์คันนี้โดยได้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้ลูกจ้างขับรถไปในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2540 ลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงจนเสียหลักแฉลบข้ามเกาะกลางถนนเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-4809 นครปฐมที่นายลำพองขับ มีโจทก์ที่ 1 และที่ 4 นั่งมาในรถเป็นเหตุให้นายลำพองถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก สมองได้รับความกระทบกระเทือนเสียค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ได้จัดการศพนายลำพองเสียค่าปลงศพ 38,500บาท โจทก์ที่ 1 ยังมีอาการปวดศีรษะเป็นระยะขอคิดค่าเสียหาย 10,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ขาดไร้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาขอคิดค่าเสียหายปีละ 40,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 600,000 บาท รถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-4809 นครปฐม เสียหายทั้งคันไม่สามารถซ่อมแซมคืนสภาพได้ ขอให้ใช้ราคา 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 912,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 848,500 บาท (ที่ถูก 850,500) นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพของนายลำพองผู้ตายสูงเกินความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายไม่ควรเกินคืนละ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการศึกษาไม่ควรเกินปีละ 15,000 บาท ในสถานศึกษาของรัฐบาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดไม่เกินจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 465,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเท่าที่จำเลยที่ 1ต้องรับผิดหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำสืบว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเท่ากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งเรียกพยานเอกสารแล้วตามใบรับคำสั่งเรียกพยานเอกสารหมาย จ.8 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมส่งกรมธรรม์ประกันภัยตามคำสั่งศาลและไม่นำสืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ต้องนำสืบโดยกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่เต็มจำนวนเท่ากับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเท่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจึงไม่ถูกต้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 แก้อุทธรณ์ว่าเป็นผู้รับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีข้อจำกัดความรับผิดนั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการพิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสี่เกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 465,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น