แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่ว่า ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้และหากเห็นเป็นการสมควร ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่ เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น เป็นกรณีที่จำเลยได้รับหมายเรียกและกำหนดนัดพิจารณาแล้ว หากจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ทราบกำหนดนัดพิจารณาเพราะสถานที่ส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกไม่ใช่ภูมิลำเนาแท้จริงของจำเลยกรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2524 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้โจทก์ทั้งสามทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์โดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุด และยังคงค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าทำงานวันหยุดประจำสัปดาห์สินจ้างที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 14,016 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 13,676 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 20,946 บาท
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิจารณาฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่อ้างว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีภูมิลำเนาตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยชอบด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานแล้ว จำเลยไม่มาศาลและไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนด 7 วัน ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่ว่าในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควรให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่ เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น เป็นกรณีที่จำเลยได้รับหมายเรียกและกำหนดนัดพิจารณาแล้ว ถ้าหากแปลว่าส่งหมายเรียกแล้วจำเลยจะทราบหรือไม่ก็ตาม ต้องมาแถลงขอให้ศาลทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาล และขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วันแล้ว ในกรณีที่จำเลยไม่ทราบกำหนดนัดพิจารณา ย่อมไม่มีทางจะมาแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วันตามมาตรานี้ได้เลย และคงมิใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายในอันที่จะยังความเป็นธรรมเพราะมีแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ก็ยังได้กำหนดเวลาให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่จำเลย ฯลฯ ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่บัญญัติไว้ข้างบนนี้ โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง ฯลฯ ซึ่งเป็นการให้โอกาสจำเลยได้ยื่นคำร้องให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อทราบผลแห่งคดีแล้ว สำหรับความมุ่งหมายแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 มิได้แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 เพียงแต่ร่นระยะเวลาที่จำเลยจะขอให้พิจารณาใหม่สั้นลงเพียง 7 วัน เพื่อความรวดเร็วแห่งคดีเท่านั้นแต่ก็ยังต้องมีวัตถุประสงค์ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความเป็นธรรมควบคู่อยู่ด้วย คดีนี้เป็นกรณีจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ทราบกำหนดนัดพิจารณาเพราะส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกตามภูมิลำเนาตามฟ้องซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาแท้จริงตามทะเบียนบ้านของจำเลย เมื่อเป็นดังนี้จึงมีปัญหาว่ากรณีถ้าหากไม่ใช้กำหนดระยะเวลา 7 วันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 แล้ว จะใช้กำหนดระยะเวลาตามกฎหมายใด ศาลฎีกาเห็นว่าชอบที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และเมื่อปรากฏว่ายังมิได้มีการส่งคำบังคับ หรือพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นจำเลยย่อมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้และจำเลยได้ยกเหตุขึ้นอ้างว่าการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ส่งตามภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกหรือกำหนดนัดวันสืบพยาน เพิ่งทราบจากเพื่อนเล่าให้ฟังหลังจากศาลพิพากษาแล้ว ศาลแรงงานกลางชอบที่ไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสองก่อน ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางและให้ไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสองและมีคำสั่งใหม่ต่อไป