แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยพนักงานกำหนดว่า พนักงานต้องสุภาพ เรียบร้อย เชื่อฟัง และไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาฯ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายระเบียบและแบบธรรมเนียมของจำเลย ห้ามมิให้ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง ในการปฏิบัติงาน ห้ามมิให้กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตนเว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำและให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบในโอกาสแรก การที่โจทก์พูดกับเพื่อนร่วมงานว่า ถ้าโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงาน งานชิ้นแรกที่จะทำคือขับไล่ผู้อำนวยการออก ถ้าโจทก์ออกจะต้องมีคนตายนั้น เป็นการพูดไม่สุภาพ และเป็นการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว แต่ไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันจำเลยจะไล่ออก ปลดออกตามข้อบังคับของจำเลยได้ เมื่อจำเลยปลดโจทก์ออกจากงานย่อมเป็นการเลิกจ้าง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46,47
จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม2521 โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์รับสินจ้างเป็นรายเดือน การเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521 จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้โจทก์ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 31 เพราะมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำออกจากงานอ้างว่าโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งแล้วว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ชำระค่าชดเชยเงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงานและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม หรือชำระค่าเสียหายโจทก์ได้รับค่าเสียหายจากจำเลยแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิเคราะห์ข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วยพนักงาน พ.ศ. 2522 แล้วข้อ 22 พนักงานต้องสุภาพ เรียบร้อย เชื่อฟังและไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายระเบียบและแบบธรรมเนียมขององค์การ ห้ามมิให้ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง ในการปฏิบัติงานห้ามมิให้กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำและให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบในโอกาสแรกข้อ 36 การลงโทษไล่ออกนั้นจะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ฯลฯข้อ 8 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ข้อ 37 การลงโทษปลดออกนั้นจะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ยังไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออก โดยมีเหตุผลอันสมควรลดหย่อนการที่โจทก์พูดกับเพื่อนร่วมงานว่า ถ้าโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงาน งานชิ้นแรกที่โจทก์จะทำคือขับไล่ผู้อำนวยการออก ถ้าโจทก์ออกจะต้องมีคนตายนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัย ข้อ 22 คือการพูดของโจทก์ไม่สุภาพ และเป็นการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัย แต่ไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อ 36(8) ยังไม่ถึงขั้นที่จำเลยจะไล่ออก ปลดออกได้ เมื่อจำเลยปลดโจทก์ออกจากงานย่อมเป็นการเลิกจ้าง ทั้งการกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน กรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46, 47จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม2524 โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์รับสินจ้างเป็นรายเดือนการเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือเมื่อจ่ายเงินเดือนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้โจทก์จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521 แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางบังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมหรือให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทโดยให้จำเลยเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมกันโดยเลือกชำระค่าเสียหายศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษายืน