คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นของตน จำนวน 3 แปลงให้จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตน ตาม สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เพราะหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลนั้น เป็นเรื่องที่ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม สัญญาจะซื้อขายเท่านั้นไม่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน 3 แปลงดังกล่าว
ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้เพราะมีเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 ตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อ นัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน… ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป…” หนังสือดังกล่าวไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ราคา ๒๔๐,๐๐๐ บาท ได้รับเงินมัดจำไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญาตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ ถึงกำหนดไม่สามารถโอนที่ดินได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียม วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินแปลงนี้ให้ หลังจากนั้นวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินของตน ๓ แปลง นอกเหนือจากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยทั้งสองทราบว่าโจทก์ใช้สิทธิทางศาลฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้โอนที่ดิน และใช้ค่าฤชาธรรมเนียม การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แล้ว เป็นการโกงเจ้าหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓ และ ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีมีมูลหรือไม่ เห็นว่าที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๔๘ และ ๔๗๕๐กับที่ดินตาม น.ส.๓ก. เลขที่ ๔๘๙ รวม ๓ แปลง ให้แก่จำเลยที่ ๒ นั้น ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ เหตุเพราะว่าหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องที่ให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๖๖ ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่ดิน ๓ แปลงที่จำเลยที่ ๑ โอนให้จำเลยที่ ๒ ไปดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ทราบข้อความตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เอกสารหมาย จ.๖ ว่า โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกับเรียกค่าเสียหายและหากไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายได้โจทก์ก็จะต้องฟ้องให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไปแล้วจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง กับจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.๖ แล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือของทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายกันได้ ซึ่งทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ถือว่าเหตุขัดข้องเนื่องมาจกาฝ่ายจำเลยที่ ๑ และตอนท้ายของหนังสือมีข้อความแต่เพียงว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน ๗ วันนับแต่วันได้รับหนังสือนี้ ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะต้องดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป หวังว่าคงได้รับความร่วมมือด้วยดี” เท่านั้น ไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหายดังที่โจทก์ฎีกา ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำพร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแทนโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินรวม ๓แปลง ให้แก่จำเลยที่ ๒ ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐ และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share