คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 108 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใดเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามอนุมาตรา 1ถึง 10 ย่อมใช้บังคับในกรณีที่มีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่3 ครอบครองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและขนแร่ดังกล่าวโดยฝ่าฝืนมาตรา 108 จึงต้องมีความผิดฐานมีแร่ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง
ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3คนละ 214,844.58 บาทโดยกำหนดว่าหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 แต่มิได้ระบุชัดแจ้งว่าจะกักขังเกินหนึ่งปีหรือไม่และมีกำหนดเท่าใดเช่นนี้ จะกักขังเกินกำหนดหนึ่งปีไม่ได้ (อ้างฎีกาที่1835/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันมีแร่ตะกรันน้ำหนัก 1,204.1 กิโลกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขนแร่ตะกรันจำนวนดังกล่าวโดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะจากเหมืองแร่อำเภอ ห. ไปยังอำเภอ ท. โดยฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 108, 148, 154พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 21, 27 ริบแร่และรถยนต์ของกลาง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ศาลมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 108, 148, 154 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 18, 21, 27 เรียงกระทงลงโทษ โดยลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงปรับคนละ214,844.58 บาท ริบแร่และรถยนต์ของกลาง ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เรียงกระทงลงโทษไม่ได้ และลงโทษปรับรายบุคคลไม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข้อหาฐานขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและให้ลงโทษฐานมีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ปรับคนละ 107,422.29 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถ้าจะต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังคนละ1 ปี 2 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานขนแร่อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 อีกกระทงหนึ่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 108 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 32 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใดเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม (1) ถึง (10) ไม่มีบทบัญญัติพิเศษว่าข้อห้ามตามมาตรา 108 ใช้บังคับเฉพาะแร่ที่มีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงใช้บังคับได้ในกรณีที่บุคคลอื่นใดที่มีแร่ไว้ในความครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานขนแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 21อีกกระทงหนึ่ง

ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ214,844.58 บาท โดยกำหนดว่าหากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุชัดแจ้งว่าจะกักขังเกินหนึ่งปีหรือไม่และมีกำหนดเท่าใด เช่นนี้ จะกักขังเกินกำหนดหนึ่งปีไม่ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1835/2514 พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายพิชัยจิระรัตนวิไล กับพวก จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานขนแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3โดยบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็ให้กักขังได้คนละไม่เกิน 1 ปี

Share