คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิเหนือพื้นดินโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรางน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยและจำเลยมีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยรื้อรางน้ำดังกล่าวโดยเชื่อว่าได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิในที่ดินตามสมควรแก่การสร้างตึกแถวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1336 ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2762/2523)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันรื้อถอนทำลายรางน้ำท่อรองน้ำฝนของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 83, 84

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 84 สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิเหนือพื้นดินหรือที่เรียกว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรางน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 มีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 รื้อรางน้ำดังกล่าวโดยเชื่อว่าได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิในที่ดินตามสมควรแก่การสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามนัยคำพิพากษาาฎีกาที่ 2762/2523 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share