แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวันจำเลยได้ลักทรัพย์รถยนต์โตโยต้า โคโรน่า หมายเลขทะเบียน8 ง-5726 กรุงเทพมหานคร ราคา 300,000 บาท ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไฮเวย์คาร์เร้นท์ โดยมีนายธวัชชัย จันทรเสรีกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริตเหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคสอง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้จำคุกจำเลย3 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไฮเวย์คาร์เร้นท์ ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลมีนายธวัชชัย จันทรเสรีกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ รถยนต์โตโยต้าโคโรน่า หมายเลขทะเบียน 8 ง-5726กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุ เป็นรถยนต์คันหนึ่งของผู้เสียหายให้ลูกค้าเช่า จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ก่อนให้เช่าและภายหลังที่ผู้เช่าส่งคืนรวมทั้งนำไปส่งผู้เช่าและติดตามคืนในเมื่อผู้เช่าไม่ส่งตามกำหนด เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 15.32 นาฬิกา จำเลยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวออกไปจากห้างผู้เสียหายเพื่ออัดฉีดทำความสะอาดทั้งภายนอกและภายในที่ปั๊มน้ำมันซึ่งอยู่เยื้องกับห้างผู้เสียหายห่างกันประมาณ200 เมตร ยามตรวจรถเข้าออกได้บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยรับรถจากปั๊มน้ำมันเป็นเวลาเลย 22 นาฬิกา จึงได้นำรถคันดังกล่าวไปไว้ที่บ้านจำเลย ครั้นวันรุ่งขึ้น จำเลยได้นำรถขับไปส่งน้าชายกับครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อไปถึงบ้านโคกกรวดอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รถยนต์ได้เกิดเสียขับต่อไปไม่ได้ จำเลยได้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจทางหลวง ต่อมาได้มีช่างซ่อมรถยนต์ตรวจดู พบว่าเฟือง ท้ายเสียต้องถอดเปลี่ยนตำรวจทางหลวงจึงให้ลากรถยนต์ไปจอดไว้ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นเพื่อนของตำรวจทางหลวงจำเลยไปหาเฟือง ท้ายที่ในตัวจังหวัดนครราชสีมา แต่หาไม่ได้จึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ส่วนน้าชายและครอบครัวพักนอนที่บ้านเพื่อนตำรวจทางหลวง 1 คืน เมื่อจำเลยกลับถึงกรุงเทพมหานครก็ได้ไปทำงานที่ห้างผู้เสียหายตามปกติจำเลยได้ฝากเงิน 1,500 บาท ให้นายสุจินต์ ยางปรางค์ ช่างเครื่องของห้างผู้เสียหายช่วยหาซื้อเฟือง ท้ายรถยนต์ รุ่นที่จำเลยทำเสียแต่นายสุจินต์ไม่สามารถหาได้ เพราะอะไหล่ไม่มีและราคาประมาณ2,000 บาท จำเลยเคยปรึกษานายวลิต ประสพดี พนักงานขับรถของผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวลิตบอกให้ไปบอกผู้จัดการจำเลยบอกว่าไม่กล้าบอกเพราะกลัวถูกไล่ออก นายวลิตจึงแนะนำให้รีบซ่อมและนำรถยนต์กลับคืนมาให้ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2531 เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่แจ้งต่อสิบตำรวจโทสมเกียรติ น้อยเจริญ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมา ว่ามีผู้ชายผู้หญิงรวม 4 คน ได้นำรถยนต์พร้อมกุญแจมาฝากไว้แต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 และบอกว่าจะเอาอะไหล่มาซ่อม แต่จนบัดนี้ยังไม่มา สิบตำรวจโทสมเกียรติจึงลากรถยนต์ไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมาและรับกุญแจไว้ด้วย ตรวจภายในรถยนต์พบบัตรประจำตัว ใบขับขี่ของจำเลย และหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ซึ่งปรากฏว่าเป็นของผู้เสียหาย จึงได้โทรศัพท์ให้ผู้เสียหายทราบในวันที่ 1 มีนาคม2531 ครั้นวันที่ 3 มีนาคม 2531 จำเลยไปติดต่อขอรับรถยนต์คืนเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยหาหลักฐานไปให้ตรวจสอบ วันรุ่งขึ้นนายอรุณ รุ่งมโนธรรม ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายไปรับรถยนต์คืน เจ้าพนักงานตำรวจจึงคืนรถยนต์ให้ไป และนายอรุณได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย วันที่ 5มีนาคม 2531 เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยขณะที่ทำงานอยู่ที่ห้างผู้เสียหาย
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ในเบื้องต้นจำเลยได้นำรถยนต์ออกจากห้างผู้เสียหายเพื่อไปทำความสะอาด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531ยามของห้างก็ได้บันทึกหมายเลขทะเบียนรถยนต์ ชื่อผู้นำเอาออกไปและวันเวลาที่นำออกไป ต่อมาจำเลยได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับน้าชายกับครอบครัวไปจังหวัดนครราชสีมา แต่เฟือง ท้ายรถเสียจึงขับต่อไปไม่ได้และจำเลยไม่สามารถหาเฟืองท้ายไปซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว จึงมิได้นำรถยนต์มาคืนผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายได้รับคืนจากเจ้าพนักงานตำรวจ ในวันที่ 4 มีนาคม 2531 การกระทำของของจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยพารถยนต์ผู้เสียหายเคลื่อนที่ไป อาจเป็นการแย่งการครอบครองไปจากผู้เสียหาย ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ในคดีนี้จำเลยนำรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งน้าชายและครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมาถ้าเหตุการณ์ปกติย่อมเห็นได้ว่าเมื่อส่งน้าชายและครอบครัวเสร็จแล้วย่อมนำมาคืนผู้เสียหายได้ แต่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวเฟืองท้ายเสีย จำเลยจึงไม่สามารถนำมาคืนผู้เสียหายได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาจะเอารถยนต์ผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าหากจำเลยเจตนาจะเอาทรัพย์ไปเป็นการถาวรอันเป็นลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ จำเลยคงจะเอาไปในลักษณะที่ต้องหลบเลี่ยงจากการบันทึกของยามที่ห้าง ทั้งจำเลยคงจะไม่ทิ้งใบขับขี่ บัตรประจำตัวหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ไว้ในรถ อันเป็นหนทางที่จะสืบหาถึงตัวจำเลยได้สะดวก นอกจากนี้จำเลยยังได้มอบกุญแจรถยนต์ไว้กับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ที่รถจอดอยู่ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าจำเลยเพียงแต่เอารถผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์