คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกา ษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยมิได้มีบทมาตราใดกำหนดให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการและหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นของจำเลย คงมีบทบัญญัติกำหนดให้จำเลยพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับเป็นพนักงานของจำเลยตามที่เห็นสมควร ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้จำเลยใช้ดุลพินิจในการรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่จำเลยเห็นสมควร ดังนี้ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ โจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจรับโจทก์เข้าทำงานแล้วการที่โจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยมิได้พิจารณารับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างจำเลยแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและเรียกค่าจ้างระหว่างพักงานจากจำเลยในฐานะนายจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่เทียบเท่ากับตำแหน่งเดิมในอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน จำนวน 1,650,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2531จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,000 บาท และจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานดังกล่าว พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีความผูกพันที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน หรือจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520ให้จัดตั้งจำเลยขึ้นเพื่อรับช่วงกิจการรวมตลอดทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และมาตรา 37 นั้นกำหนดให้จำเลยต้องรับพนักงานทั้งหมดของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดรวมทั้งโจทก์กลับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยแล้วให้ดำรงตำแหน่งตามที่เห็นสมควร และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้กับโจทก์ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือเนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือแก่สาธารณชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการนี้สมควรจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น ตามเหตุผลที่ได้ประกาศดังกล่าวนั้นไม่มีกรณีที่เกี่ยวกับการเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ที่เป็นนายจ้างของโจทก์และตามบทมาตราต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ไม่มีบทมาตราใดที่จะให้จำเลยรับช่วงโอนกิจการ และหนี้สินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นของจำเลยดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ คงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 37 ว่า “ให้ อ.ส.ม.ท.พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นพนักงานของ อ.ส.ม.ท. ตามที่เห็นสมควร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นกฎหมายกำหนดไว้เป็นการให้ดุลพินิจจำเลยในการที่จะรับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยตามที่จำเลยเห็นสมควร กล่าวคือ จะรับหรือไม่รับคนใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร มิใช่ว่าจะต้องรับทั้งหมดและให้ดำรงตำแหน่งตามที่เห็นสมควรดังที่จำเลยอุทธรณ์ โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับโจทก์จะมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจรับโจทก์เข้าทำงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า เมื่อมีการพิจารณารับพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มาเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจำเลยมีผลใช้บังคับแล้วนั้นโจทก์มิได้แสดงความจำนงขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยก็มิได้พิจารณารับโจทก์เข้ามาเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยมาแต่ต้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในอันที่จะฟ้องให้จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างระหว่างพักงานจากจำเลยในฐานะนายจ้างได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share