แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายได้ออกเช็คพิพาทโดยเว้นรายการวันที่ออกเช็คไว้ให้ลูกแชร์ คือผู้ทรงไป โดยมีข้อตกลงว่าให้ผู้ทรงไปลงวันที่เองตามกำหนดที่เปียแชร์ได้ แต่นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย วงแชร์จึงล้มไม่มีการเปีย เวลาพึงชำระหนี้ตามเช็คที่อาศัยการเปียแชร์เป็นวิธีกำหนดจึงตกเป็นการพ้นวิสัย และจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็มิได้ เจ้าหนี้คือผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน แต่ผู้ตายถูกคนร้ายฆ่าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน2528 สิทธิของผู้ทรงที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อผู้สั่งจ่ายจึงเริ่มมีขึ้นและมีอยู่ตลอดไปถึงวันครบกำหนดอายุความที่อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องตามมูลตั๋วเงินนั้น ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดอายุความ1 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ปรากฏว่าผู้ทรงได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ยังอยู่ในกำหนดเวลาที่อาจใช้สิทธิได้ดังกล่าว จึงเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายโดยถูกต้องแท้จริงตามสิทธิโดยสุจริตแล้ว รายการในเช็คพิพาทจึงสมบูรณ์ครบถ้วน เมื่อการลงวันที่ในเช็คพิพาทมีผลตามกฎหมาย วันที่ลงในเช็คพิพาทอันเป็นวันที่เช็คถึงกำหนดใช้เงินที่ปรากฏดังกล่าวคือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันนั้น โจทก์ผู้ทรงฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 จึงไม่เกินกำหนด 1 ปี ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ จึงมีผลเป็นการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921,989 เมื่อได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ทรงตามที่เรียกร้องแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินตามเช็คไปแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตามมาตรา 940 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายทิวา ก่อนที่นายทิวาถึงแก่ความตายนั้น นายทิวาได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค 5 ฉบับ ฉบับละ 25,000 บาท แก่ผู้ถือ ส่งมอบให้ผู้มีชื่อเพื่อชำระหนี้โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมานายทิวาถึงแก่ความตาย ผู้มีชื่อได้ไล่เบี้ยให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คนั้นโจทก์ได้ชำระแทนให้ผู้มีชื่อแล้ว ผู้มีชื่อได้มอบเช็คทั้ง 5 ฉบับให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน130,468 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่านายทิวา ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง 5 ฉบับจริงโดยเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ร่วมเล่นแชร์ได้เมื่อ พ.ศ. 2528 แต่มิได้ลงวันที่สั่งจ่าย เมื่อนายทิวาถึงแก่ความตายแล้วโจทก์จึงมาลงวันที่สั่งจ่ายเงินเป็นวันที่ 20พฤศจิกายน 2529 นอกจากนั้นโจทก์มาลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทหลังจากที่นายทิวาถึงแก่ความตายแล้ว และต่อมาได้รับสมอ้างว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงเช็คพิพาท โดยที่ธนาคารตามเช็คยังมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเลย หากโจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายตามข้อตกลงนับถึงวันฟ้องจะเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามเช็คพิพาทจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 125,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน5,468 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้เป็นยุติว่านายทิวาผู้ตายได้ออกเช็คพิพาทโดยเว้นรายการวันที่ออกเช็คไว้ให้ลูกแชร์คือผู้ทรงไป โดยมีข้อตกลงว่าให้ผู้ทรงไปลงวันที่เองตามกำหนดที่เปียแชร์ได้ แต่นายวงแชร์คือนายทิวาถึงแก่ความตายวงแชร์จึงล้มไม่มีการเปีย เวลาพึงชำระหนี้ตามเช็คที่อาศัยการเปียแชร์เป็นวิธีกำหนดจึงตกเป็นการพ้นวิสัย และจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็มิได้ เจ้าหนี้คือผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน แต่ผู้ตายถูกคนร้ายฆ่าเมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2528 สิทธิของผู้ทรงที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องจึงเริ่มมีขึ้นและมีอยู่ตลอดไปถึงวันครบกำหนดอายุความที่อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องตามมูลตั๋วเงินนั้น ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 1 ปีนับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ทรงได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ยังอยู่ในกำหนดเวลาที่อาจใช้สิทธิได้ดังกล่าว จึงเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายโดยถูกต้องแท้จริงตามสิทธิโดยสุจริตแล้ว รายการในเช็คพิพาทจึงสมบูรณ์ครบถ้วน
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทโดยผู้สั่งจ่ายไม่ทราบ โจทก์กับผู้สั่งจ่ายจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กันนั้น พยานโจทก์ทุกปากที่เป็นผู้รับเช็คจากผู้ตายเบิกความยืนยันตรงกันฟังได้ว่า พยานทุกคนเป็นผู้ให้โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทก่อนผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพื่อค้ำประกันการเล่นแชร์นี้ด้วยเหตุที่โจทก์เป็นผู้ชักชวนให้เล่นแชร์กับผู้ตาย การสลักหลังเช็คพิพาทจึงเป็นไปตามข้อผูกพันและจากการจัดการของผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นเช็คผู้ถือและมีผลเป็นเพียงการประกัน(อาวัล) ผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921เป็นสิทธิของผู้ทรงเช็คที่จะจัดการดังกล่าวได้ การสลักหลังของโจทก์ในเช็คพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ และข้อเท็จจริงยังรับฟังเป็นยุติได้ตามที่ผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นพยานโจทก์ดังกล่าวด้วยว่า โจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ทรงตามที่เรียกร้องแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินตามเช็คไปแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม
สำหรับปัญหาสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากนายทิวาออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้เล่นแชร์เมื่อวันที่5 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งหากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21กรกฎาคม 2533 นั้น เห็นว่า เมื่อการลงวันที่ในเช็คพิพาทมีผลตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น วันที่ลงในเช็คพิพาทอันเป็นวันที่เช็คถึงกำหนดใช้เงินที่ปรากฏดังกล่าวคือวันที่ 20พฤศจิกายน 2529 และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันนั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 จึงไม่เกินกำหนด1 ปี ยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน