คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 29,30 ได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว กล่าวคือให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษีปฏิบัติได้เป็นขั้นตอนเมื่อผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วผู้เสียภาษียังไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ จำนำคดีมาฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามวิธีการดังกล่าวเสียก่อนหาได้ไม่
จำเลยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ลูกจ้างของตนตามประมวลกฎรัษฎากรมาตรา 50 และต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่จะต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนกังาน จำเลยจึงต้องผูกพันเป็นลูกหนี้ตามที่เจ้าพนักงานทำการประเมินโดยผลแห่งบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินไม่ชอบ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายเพราะลูกจ้างมีเงินรายได้พึงประเมินแต่ละปีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี
ค่าภาษีอากรประจำปี พ.ศ.2508 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ภายในเดือนมีนาคม 2509 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 56 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น เจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลูกหนี้รับผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2518 จึงเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 และอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ต่อมาเมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์เด็ดขาด ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีของเจ้าหนี้ อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ศาลสั่งจำหน่ายคดี เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2519 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย กรุงเทพมหานครผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงิน ๑,๓๐๘,๖๒๐.๘๑ บาท ต่อมาเจ้าหนี้ขอลดยอดหนี้เหลือ ๑,๓๐๕,๑๒๑.๑๖ บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๑๐๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โต้แย้งว่า ลูกหนี้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๐๘ ไว้ ณ ที่จ่าย ลูกจ้างของลูกหนี้มีเงินได้พึงประเมินแต่ละปีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงิน ๓๔๔,๖๔๔.๓๒ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๘) ศาลชั้นต้นอนุญาต
ลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังได้ว่าบริษัทสีลมก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ประกอบการค้าประเภทรับจ้างทำซองชนิด ๑ (ค) ซึ่งตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวดแห่งประมวลรัษฎากร ลูกหนี้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้างนำส่งชำระ ณ ที่ว่าการเขตท้องที่ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐,๕๒ แต่ลูกหนี้ไม่ยื่นรายการแสดงและหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในปี พ.ศง ๒๕๐๖-๒๕๐๘ รวมเป็นเงิน ๑,๓๐๘,๖๒๐.๘๑ บาท เจ้าหนี้ได้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบ แต่ลูกหนี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านว่ารายได้ของลูกจ้างของลูกหนี้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เจ้าหนี้ได้ยืนยันให้ลูกหนี้นำเงินค่าภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาชำระโดยเจ้าหนี้ได้หักยอดภาษีประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ที่ลูกหนี้ได้ชำระไว้เป็นเงิน ๓,๔๙๙.๑๒ บาท ลูกหนี้ยังคงต้องชำระอีก ๑,๓๐๕,๑๒๑.๑๖ บาท เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลแพ่งขอให้ชำระค่าภาษีที่ค้างชำระ เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลได้สั่งจำหน่ายคดี เจ้าหนี้จึงมายื่นคำของรับชำระหนี้คดีนี้ และวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๒๙,๓๐ ได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว กล่าวคือให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษีปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน เมื่อผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ผู้เสียภาษียังไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ จะนำคดีมาฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามวิธีการดังกล่าวเสียก่อนหาได้ไม่ กรณีคดีนี้ก็เช่นเดียวกัน จำเลยมีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ลูกจ้างของตนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐ และจะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่จะต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๔ จึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงาน จำเลยจึงต้องผูกพันเป็นลูกหนี้ตามที่เจ้าพนักงานทำการประเมินซึ่งทั้งนี้โดยผลแห่งบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจจะมายกขึ้นต่อสู้ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินไม่ชอบ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายเพราะลูกจ้างที่มีเงินรายได้พึงประเมินแต่ละปีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และที่ลูกหนี้ฎีกาว่า คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ขาดอายุความนั้น เห็นว่าสำหรับค่าภาษีอากรประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ คิดเป็นจำนวนเงิน ๓๔๔,๖๔๔.๓๒ บาทนั้น เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๖ มาตรา ๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น เจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ลูกหนี้รับผิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๘ จึงเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗ และอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓ ต่อมาเมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีของเจ้าหนี้ อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตังแต่วันที่ศาลสั่งจำหน่ายคดี
เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๙ ฉะนั้น หนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share