คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรวมกันประกอบกิจการนั้น ผู้เข้าร่วมประกอบกิจการอาจเป็นหุ้นส่วนกันได้ แต่การประกอบกิจการแทนกันนั้นเป็นเรื่องตัวการตัวแทนบุคคลสองฝ่ายจึงไม่อาจทั้งร่วมกัน และแทนกันในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งได้
จำเลยทั้งสี่ต่างมีสภาพเป็นนิติบุคคล ภูมิลำเนาของจำเลยแต่ละคนจึงต้องเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 บัญญัติไว้เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 จดทะเบียนและตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศไม่มีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะยื่นคำให้การเข้ามา แต่เมื่อฟ้องโจทก์ต้องห้ามมิให้เสนอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 แล้วก็ไม่ทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีถึงจำเลยที่ 3 ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 สัญญาประกันภัยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดและกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยออกให้ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกัน ดังนั้นเมื่อสาขาของบริษัทจำเลยที่ 3 ที่สิงคโปร์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้า และเป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ลงชื่อในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันดำเนินกิจการค้าเป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นผู้ครอบครองและร่วมกันและแทนกันในการบังคับบัญชาเรือชื่ออเมริกันมิ้งได้ร่วมกัน และแทนกันออกใบตราส่งสินค้า ใบส่งสินค้าให้แก่ผู้ส่งและผู้รับสินค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการรับขนสินค้าทางทะเล
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันประกอบกิจการค้าเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลโจทก์สั่งซื้อเครื่องยนต์ใช้แล้วจากประเทศสิงคโปร์ ผู้ขายได้ส่งสินค้าให้โจทก์โดยเรืออเมริกันมิ้งจำนวนสินค้า ๔๒ หีบห่อ เมื่อเรืออเมริกันมิ้งเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพขนถ่ายสินค้าโจทก์ในฐานะผู้รับการสลักหลังใบตราส่งและเป็นผู้รับตราส่งสินค้า ได้เรียกให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปหมด สินค้าทั้งหมดได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ และระบุให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยจำเลยที่ ๔ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ชดใช้ราคา จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ยินยอมโจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ราคาสินค้าแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่ชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ เฉพาะจำเลยที่ ๒ โจทก์มิได้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าจำเลยที่ ๓ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอินเดีย ไม่มีสำนักงานสาขาหรือที่ตั้งทำการงานในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลร่วมกับจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๔ ให้การว่ามิได้ร่วมกันและแทนกันกับจำเลยที่ ๓ ประกอบกิจการรับประกันภัยทางทะเล จำเลยที่ ๔ มิได้ลงนามในสัญญาประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันและแทนกันในการประกอบกิจการขนส่งทางทะเลและจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันและแทนกันในการประกอบกิจการรับประกันภัยทางทะเล การร่วมกันและแทนกันดังกล่าวเป็นกิจการที่นิติบุคคลสองฝ่ายร่วมทุนหรือเป็นหุ้นส่วนอันไม่จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันและถือได้ว่ามีภูมิลำเนาแห่งเดียวกัน เมื่อกิจการที่ร่วมกันกระทำมีที่ทำการในประเทศไทย ก็ต้องถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีภูมิลำเนาในประเทศไทยในส่วนของกิจการค้านั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงมีภูมิลำเนาในประเทศไทยเพราะเป็นหุ้นส่วนอันไม่จดทะเบียนกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ตามลำดับ โดยเฉพาะจำเลยที่ ๓ ได้เข้าต่อสู้คดี เป็นการยอมรับอำนาจของศาลไทย ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า การร่วมกันประกอบกิจการนั้น ผู้เข้าร่วมประกอบกิจการอาจเป็นหุ้นส่วนกันได้ แต่การประกอบกิจการแทนกันนั้นเป็นเรื่องตัวการตัวแทนบุคคลสองฝ่ายจึงไม่อาจทั้งร่วมกันและแทนกันในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างไรก็ตาม แม้จะถือตามฎีกาโจทก์ว่า เป็นการร่วมทุนหรือหุ้นส่วนอันไม่จดทะเบียนเป็นกิจการใหม่ที่ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยทั้งสี่ต่างก็มีสภาพเป็นนิติบุคคล ภูมิลำเนาของจำเลยแต่ละคนจึงต้องเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ บัญญัติไว้เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ จดทะเบียนและตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ ไม่มีสำนักงานสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ก็ไม่อาจมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ แม้จำเลยที่ ๓ จะยื่นคำให้การเข้ามาแต่เมื่อฟ้องโจทก์ต้องห้ามมิให้เสนอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒ เสียแล้ว ก็ไม่ทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีถึงจำเลยที่ ๓ ได้
ส่วนในประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันประกอบกิจการประกันภัยสินค้าทางทะเล จำเลยที่ ๔ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทุกประการนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๗ สัญญาประกันภัยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด และกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยออกให้ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย ข้อเท็จจริงได้ความว่า สาขาของบริษัทจำเลยที่ ๓ ที่สิงคโปร์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้และเป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ ๔ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใด จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นอื่นต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share