คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรและยกฟ้องฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่อุทธรณ์แต่จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาฐานความผิดฐานใดฐานหนึ่งระหว่างฐานรับของโจรกับฐานลักทรัพย์ไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่มีสิทธิที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างที่ 1 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน ถึง 21 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง มีคนร้ายเข้าไปในบ้าน 3 หลัง อันเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีชื่อซึ่งเป็นของบริษัทหมู่บ้านเจ้าพระยา เลค แอนด์ พาร์ค จำกัด ผู้เสียหาย โดยร่วมกันใช้ของแข็งงัดประตูหน้าต่างบ้านทั้งสามหลังจนแตกเสียหายอันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ แล้วลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง เจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนฉะเชิงเทรา ข-9317 (ที่ถูก ช-9317) ได้จากที่เกิดเหตุซึ่งเป็นยานพาหนะที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง และวันที่ 13 ธันวาคม 2542 เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ได้พร้อมทรัพย์ของผู้เสียหายบางส่วนเป็นของกลาง และยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ท-7821 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองกับพวกใช้กระทำความผิดดังกล่าว ได้จากบ้านของจำเลยที่ 1 เป็นของกลาง วันที่ 14 ธันวาคม 2542 เจ้าพนักงานจับพวกของจำเลยทั้งสองได้อีก 1 คน ทั้งนี้จำเลยทั้งสองกับพวกรวม 5 คน ร่วมกันเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันรับของโจรทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 335, 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 267,582 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (ที่ถูกมาตรา 78)
กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7) วรรคสองประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ให้จำคุก 4 ปี และให้ยกฟ้องข้อหารับของโจร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน มีคนร้ายงัดประตูและหน้าต่างสำนักงานบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น และ ทาวน์ฮ์ชั้นเดียวของบริษัทหมู่บ้านเจ้าพระยา เลค แอนด์ พาร์ค จำกัด ผู้เสียหายไป 7 รายการ 8 รายการ 10 รายการ และ 6 รายการ เป็นเงิน 44,928 บาท 64,730 บาท 137,284 บาท และ 57,630 บาท ตามลำดับ ในวันเกิดเหตุได้มีผู้มาแจ้งแก่นางปนัดดาที่บ้านพักว่ามีคนเข้าไปอยู่ในบ้านตัวอย่างของผู้เสียหาย นางปนัดดากับนายณรงค์จึงเดินทางไปยังบ้านดังกล่าวในเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา โดยไปซุ่มดูคนร้ายอยู่บริเวณประตูทางเข้าโครงการ สักครู่มีชาย 2 คน นั่งรถจักรยานยนต์มาด้วยกันเข้าไปที่บ้านเดี่ยวชั้นเดียว ชายทั้งสองได้จุดเทียนอยู่ภายในบ้าน ต่อมานางปนัดดากับนายณรงค์ได้เดินเข้าไปหา ชายทั้งสองคนได้วิ่งหลบหนีไปทิ้งรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนฉะเชิงเทรา ช-9317 ไว้ นางปนัดดาได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพนมสารคาม วันที่ 13 ธันวาคม 2542 เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นบ้านของนายอนุสรณ์ เลขที่ 199 หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาดาบตำรวจสุเชาว์กับพวกได้ไปตรวจค้นบ้านดังกล่าวพบนายอนุสรณ์หรือเมฆและนายวินัยค้นพบชักโครก พรมปูพื้น และแบบบ้านตัวอย่าง 2 หลัง ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป นอกจากนี้ในบันทึกการตรวจค้นระบุว่านายอนุสรณ์และนายวินัยให้การรับสารภาพ และชั้นสอบสวนนายอนุสรณ์ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนนายวินัยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์โดยระบุว่าได้ร่วมกับนายอนุสรณ์ นายบุญธรรมหรือเล็ก ใช้เหล็กงัดประตูบ้านของผู้เสียหายทุกหลังแล้วเข้าไปลักทรัพย์สินไปตามเอกสารหมาย จ.16 จ.17 ป.จ.7 และ ป.จ.8 (ศาลจังหวัดระยอง) วันเดียวกันเจ้าพนักงานตำรวจได้ขอหมายค้นบ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบ้านของนางน้อยมารดานางจำเริญภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ด้วย เจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันไปที่บ้านดังกล่าวพบนางน้อย นางจำเริญและจำเลยที่ 1 ผลการตรวจค้นที่บ้านหลังเล็กพบเตียงไม้ 2 หลัง หลังหนึ่งกางไว้ใช้นอนได้ ส่วนอีกหลังหนึ่งถอดพิงไว้ในบ้าน และที่บ้านหลังใหญ่ในห้องนอนที่ 1 พบพรม 3 ผืน เตียงกางไว้ 1 หลัง และเตียงถอดทิ้งไว้อยู่ข้างฝา 1 หลัง ห้องนอนที่ 2 พบพรม 3 ผืนปูไว้ ห้องนอนที่ 3 พบพรมอีก 3 ผืน ส่วนที่ห้องของจำเลยที่ 1 พบพรมผืนใหญ่และชั้นวางของวางอยู่ พบโคมไฟซุกซ่อนอยู่ข้างตู้ชั้นล่างของบ้าน พบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ท-7821 กรุงเทพมหานคร และอาวุธปืน 2 กระบอก ตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 และในวันเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.21 ชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์โดยระบุว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 นายอนุสรณ์ นายวินัย นายบุญธรรม และนายยาวไม่ทราบนามสกุลใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ท-7821 กรุงเทพมหานครเป็นยานพาหนะในการไปขนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่บ้านตัวอย่างและสำนักงานของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย ป.จ.5 (ศาลจังหวัดระยอง) และวันที่ 14 ธันวาคม 2542 เจ้าพนักงานตำรวจจับนายบุญธรรมได้ ชั้นสอบสวนนายบุญธรรมให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์โดยระบุว่าร่วมกับนายอนุสรณ์ นายวินัย ไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย ป.จ.8 (ศาลจังหวัดระยอง)
มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหารับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก โจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ความผิดข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (7), 336 ทวิ จึงถึงที่สุดแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212, 225 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลจึงมีสิทธิที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวกฐานใดฐานหนึ่งในสองฐานความผิดนี้ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรและยกฟ้องฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาฐานความผิดฐานใดฐานหนึ่งระหว่างฐานรับของโจรกับฐานลักทรัพย์ไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่มีสิทธิที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำคำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์ที่ให้การว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 8ท-7821 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ไปบรรทุกสิ่งของที่ลักมาเจือสมกับคำเบิกความของนางปนัดดาว่ากลุ่มคนร้ายมีรถยนต์กระบะไปเตรียมใช้ขนทรัพย์สินของผู้เสียหาย คำเบิกความของนางปนัดดาดังกล่าวเป็นคำบอกเล่าที่นางปนัดดาได้รับฟังมาจากบุคคลอื่นมิได้นำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความยืนยันต่อศาล คำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์เป็นเพียงคำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน นับเป็นพยานบอกเล่าไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ แม้พบใบรายการโฆษณาขายบ้านของผู้เสียหายจำนวนมากที่บ้านของจำเลยที่ 1 ด้วย ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปลักทรัพย์ในครั้งนี้เนื่องจากอาจจะติดมากับทรัพย์ที่นายอนุสรณ์กับนายวินัยคนร้ายที่แท้จริงไปลักมาก็เป็นไปได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่าพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้… ดังนั้น พยานบอกเล่าก็สามารถนำมารับฟังเป็นพยานประกอบแวดล้อมอื่นเพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำฟ้องได้ มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามแต่อย่างใด นอกจากโจทก์จะมีคำเบิกความของนางปนัดดา คำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีพันตำรวจตรีสำเริงผู้ร่วมจับกุมนายบุญธรรมเบิกความเป็นพยานว่า ในชั้นจับกุมนายบุญธรรมให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย นอกจากนี้บันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดชลบุรี) ระบุว่านายบุญธรรมให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นายอนุสรณ์ นายวินัย จำเลยที่ 2 และนายยาวไม่ทราบนามสกุลลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไปทำการลักทรัพย์ นายอนุสรณ์ นายวินัย และนายบุญธรรมได้ชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วยตามเอกสารหมาย ป.จ.10 และ ป.จ.11 (ศาลจังหวัดระยอง) และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ตรวจยึดได้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าอยู่ในสภาพที่นำมาใช้ประโยชน์แล้ว กล่าวคือ ในบ้านหลังเล็กซึ่งมีเตียง 2 หลัง หลังหนึ่งได้กางไว้ใช้นอนได้ ส่วนที่บ้านหลังใหญ่ ที่ห้องโถงมีพรมปูอยู่ 3 ผืน เตียงกางไว้ 1 หลัง และเตียงอีก 1 หลัง ถอดทิ้งไว้อยู่ฝาบ้าน ที่ห้องนอนที่ 2 พบพรม 3 ผืน ปูไว้พร้อมกับมีของทับพรมไว้ ห้องนอนที่ 3 พบพรมอีก 3 ผืน ปูไว้โดยมีเตียงทับอยู่ และที่ห้องนอนของจำเลยที่ 1 มีพรมผืนใหญ่สีเขียวปูอยู่และพบชั้นวางของวางไว้ ซึ่งได้ความจากนายณรงค์ว่าพรมที่พบในบ้านดังกล่าวถูกตัดออกเป็นผืนเล็กลงหลายผืนซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางปนัดดาว่าพรมที่พบที่บ้านจำเลยที่ 1 อยู่ในสภาพที่ถูกตัดออกไปแล้วปูให้พอดีกับห้อง ซึ่งนายณรงค์เบิกความว่า ทรัพย์ที่ยึดได้จากบ้านจำเลยที่ 1 อยู่ในสภาพดี สอดคล้องกับภาพถ่ายหมาย จ.9 เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของนายณรงค์ว่าทรัพย์ที่ยึดได้จากบ้านของจำเลยที่ 1 นั้นต้องใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อขนกลับหากเป็นรถยนต์กระบะสี่ล้อจะต้องใช้ขนของดังกล่าว 3 ถึง 5 เที่ยว จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนางปนัดดา คำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์และคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของนายบุญธรรมที่ว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 บรรทุกทรัพย์ที่ลักจากบ้านผู้เสียหายมา มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถนำทรัพย์ดังกล่าวมาได้ เมื่อพิจาณาพยานจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 พานายอนุสรณ์และนายวินัยมาเช่ารถยนต์ขนทรัพย์สินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นคนขับรถยนต์ไปรับจ้างบรรทุก แต่เมื่อขนสิ่งของขึ้นรถยนต์เสร็จแล้วนายอนุสรณ์บอกฝากสิ่งของดังกล่าวที่บ้านของจำเลยที่ 2 เนื่องจากยังหาที่เก็บของไม่ได้ แต่เนื่องจากจะมีญาติจำเลยที่ 1 มาพัก จำเลยที่ 1 จึงได้ขนย้ายเตียง พรม และโต๊ะขึ้นมาไว้บนบ้านของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 มิได้มีจำเลยที่ 2 มาเบิกความยืนยัน ส่วนที่นายอนุสรณ์มาเบิกความเป็นพยานก็ขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ในบางส่วน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 อ้างว่าทรัพย์สิ่งของดังกล่าวมีสภาพเก่า แต่นายอนุสรณ์เบิกความตอนโจทก์ถามค้านว่าทรัพย์สินทุกอย่างที่นายอนุสรณ์ลักไปนั้นมีสภาพดีเพราะนำออกมาจากบ้านที่ยังไม่มีคนเข้าพักอยู่อาศัย นอกจากนี้คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าญาติจะมาเยี่ยมจึงนำพรมไปปูที่บ้านนั้นก็ขัดกับคำเบิกความของนางจำเริญภริยาจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกนางจำเริญกับจำเลยที่ 1 ว่า นายอนุสรณ์หรือเมฆบอกให้เผาพรมทิ้งนางจำเริญกับจำเลยที่ 1 จึงขอพรมดังกล่าวไว้และนำมาปูไว้บนบ้านพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเองและขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานบอกเล่าและพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีของโจทก์รับฟังได้สอดคล้องต้องกันและมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกงัดประตูหน้าต่างบ้านของผู้เสียหายแล้วใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share