คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดยอมรับผิดต่อ น.ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ว่าจะนำรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยอมรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บด้วย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงที่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายส่วนอื่นที่เจ้าของรถยนต์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปติดต่อธุรกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
โจทก์นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปซ่อมจนรถอยู่ในสภาพเดิม และโจทก์ออกใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์กับใบเสร็จรับเงินและปลดหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถให้แก่อู่ซ่อมรถแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ จากบริษัท ช.สยามเทรดดิ้งแอนด์ทรานสปอร์ต จำกัด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 นายนิธิวัฒน์ได้ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4 ฒ-9691 กรุงเทพมหานคร ไปในทิศทางเดียวกันตามหลังรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยความเร็วสูงและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชะลอความเร็วของรถและหยุดรถได้ทันเนื่องจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ชะลอความเร็วตามรถคันหน้า เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาพุ่งชนท้ายรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ทำให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ทำการซ่อมรถคันที่รับประกันภัยไว้ให้อยู่ในสภาพดีและได้จ่ายเงินค่าอะไหล่และค่าซ่อมไป โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,246 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 96,100 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4ฒ-9691 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุชนกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์กระบะพุ่งชนท้ายรถหมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ แล้วมีรถยนต์คันอื่นพุ่งชนท้ายรถหมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ซ้ำอีก ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายมากขึ้น โดยมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว และความเสียหายของรถคันดังกล่าวไม่ถึง 25,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อการชนครั้งแรกเป็นค่าเสียหายเพียง 10,000 บาท ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายนิธิวัฒน์กับจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดระงับไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,246 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 96,100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4 ฒ-9691 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 แล่นตามหลังรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร ระหว่างทางรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับมาพุ่งชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ ที่นายนิธิวัฒน์เป็นคนขับได้รับความเสียหาย วันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 500 บาท ตกลงจะทำการซ่อมแซมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 หรือ จ.12 ต่อมาโจทก์ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปซ่อมที่อู่ทวียนต์จนเสร็จเรียบร้อยตามภาพถ่ายหมาย จ.11 และโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมจำนวน 94,500 บาท และค่ายกรถจำนวน 1,600 บาท ไปแล้ว ตามใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายนิธิวัฒน์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายนิธิวัฒน์ ที่จำเลยที่ 1 รับว่าจะซ่อมรถยนต์ให้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 หรือ จ.12 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายนิธิวัฒน์มีผลทำให้มูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำระงับไป จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมีข้อตกลงกันในส่วนความรับผิดทางแพ่งว่า “1) ทางฝ่ายนายสุรศักดิ์รับว่าจะทำการซ่อมแซมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 กรุงเทพมหานคร ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมในภายหลัง และรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บฯ 3) ทางฝ่ายนายนิธิวัฒน์พอใจตามนี้คู่กรณีสามารถทำการตกลงกันไดในทางแพ่ง โดยหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงนี้ แนะนำให้ไปฟ้องร้องกันในทางแพ่งในภายหลัง” เห็นว่า บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดยอมรับผิดต่อนายนิธิวัฒน์โดยรับว่าจะนำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 ที่ได้รับความเสียหายไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยอมรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลด้วย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงที่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายส่วนอื่นที่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-5622 นครสวรรค์ มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา 850 จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในมูลหนี้ละเมิด
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีนายเสวกผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4 ฒ-9691 กรุงเทพมหานครไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และเกิดเหตุชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้โจทก์มีสำเนารายการชื่อเจ้าของรถเอกสารหมาย จ.4 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายกมลกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลากิจเนื่องจากย้ายบ้านและขอยืมรถยนต์กระบะจากพยานเพื่อจะขนของตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีเอกสารการขอยืมรถและเอกสารลาหยุดงานของจำเลยที่ 1 มาแสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความจริงตามนั้น คำเบิกความของนายกมลจึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นายกมลเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งฝ่ายขายของจำเลยที่ 2 จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปติดต่อธุรกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้นสูงเกินไป เห็นว่า รถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังที่ปรากฏในภายถ่ายหมาย จ.5 มีรายการอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนหลายรายการ ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.8 ราคาค่าซ่อมรถที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมาต่ำกว่าราคาตามใบเสนอราคาและนับว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถมาแสดงนั้น เห็นว่า โจทก์นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปซ่อมจนรถอยู่ในสภาพเดิมตามภาพถ่ายหมาย จ.11 และโจทก์ได้ออกใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์กับใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์กับใบเสร็จรับเงินและปลดหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.9 ถือว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถให้แก่อู่ซ่อมรถแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share