แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ไม่ร้องสอดขอแบ่งมรดกเข้ามาในคดีก่อนซึ่งจำเลยเป็นคู่ความเกี่ยวกับมรดกรายเดียวกันอยู่นั้นไม่เป็นเหตุตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องขอแบ่งมรดกนั้นในคดีหลังภายในอายุความ
เมื่อปรากฏว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกับโจทก์อยู่อีกคนหนึ่งการที่ทายาทผู้นั้นนิ่งเฉยอยู่จะถือว่าทายาทผู้นั้นสละมรดกหาได้ไม่และจะแบ่งโดยเอาส่วนของทายาทผู้นั้นไปให้แก่โจทก์ไม่ได้โจทก์คงได้ส่วนแบ่งแต่เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น(อ้างฎีกาที่391/2499)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางจัน นายกลับสามีจำเลยและโจทก์เป็นบุตรนายฟักนางกวาดซึ่งตายหมดแล้ว และนายกลับตายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2499 โจทก์กับนายกลับรับมรดกที่บ้านของบิดามารดาและได้ครอบครองร่วมกันมา นายกลับตายมีมรดกตามบัญชีท้ายฟ้อง ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับมรดกนายกลับด้วย เพราะจำเลยไม่มีบุตรกับนายกลับ และนายกลับมีสินเดิมฝ่ายเดียว ส่วนนางจันไม่เกี่ยวข้องกับมรดกของบิดามารดาและของนายกลับ จำเลยไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า จำเลยสมรสกับนายกลับมา 35 ปีแล้ว จำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียว ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 1 ถึง 5 และ 7 เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและนายกลับ จำเลยย่อมจะได้รับส่วนแบ่ง 2 ใน 3, อีก 1 ส่วนเป็นมรดกของนายกลับ แต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายกลับ เพราะจำเลยเคยพิพาทเรื่องทรัพย์มรดกนายกลับกับนางเผี้ยนและพวก โจทก์มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นด้วยในที่สุดคดีนั้นศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่นางเผี้ยนกับพวก 10,000 บาท ทรัพย์ทั้งหมดตกเป็นของจำเลยแล้ว ตามสำนวนคดีแดงที่ 197/2499 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะมาดำเนินคดีนี้เกี่ยวกับทรัพย์มรดกนายกลับอีก ส่วนทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 6 ไม่มีอยู่ เพราะจำเลยใช้จ่ายในการทำศพนายกลับหมดแล้ว
โจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่า นายกลับกับจำเลยต่างไม่มีสินเดิม ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างนายกลับและจำเลยโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์ไม่ร้องสอดในคดีแดงที่ 197/2499 ที่จำเลยเป็นความกับนายสว่างนั้นเป็นการที่โจทก์สละสิทธิในมรดกหรือไม่
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่โจทก์มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีแดงที่ 197/2499 นั้น ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์เสียไป เพราะตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57, 58 มิได้บัญญัติว่า ถ้าไม่ร้องสอดแล้วก็ให้เสียสิทธิไปโจทก์ย่อมฟ้องเรียกทรัพย์มรดกได้ภายในอายุความ มรดกนายกลับมีทายาทควรได้รับเพียง 2 คน คือ โจทก์ และจำเลย แต่ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างนายกลับกับจำเลย และนายกลับกับจำเลยสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องเป็น 3 ส่วน ได้แก่จำเลย 1 ส่วน อีก 2 ส่วนแบ่งเป็นมรดกของนายกลับ ให้ได้แก่โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ถ้าแบ่งทรัพย์ไม่ตกลงกัน ก็ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์มิได้ร้องสอดในคดีแดงที่ 197/2499 ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์เสียไป ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์สละมรดก โจทก์จึงฟ้องขอแบ่งมรดกในคดีนี้ได้ แต่ (ตามฟ้อง) ปรากฏว่านางจันยังเป็นทายาทที่ควรรับมรดกด้วยคนหนึ่ง ที่โจทก์ว่านางจันไม่เกี่ยวข้องกับมรดก จำเลยก็มิได้รับในข้อนี้ ทั้งไม่เข้าเกณฑ์ (นางจัน) สละมรดก โจทก์จึงมีสิทธิได้มรดกของนายกลับเพียง 1 ใน 4 ไม่ใช่กึ่งหนึ่ง พิพากษาแก้เฉพาะข้อแบ่งมรดกเป็นให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกนายกลับให้โจทก์เพียง 1 ใน 4
โจทก์จำเลยฎีกา
ปัญหาที่ว่าโจทก์มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีแดงที่ 197/2499 เพื่อขอรับมรดกของนายกลับด้วยนั้น จะหมดสิทธิในการฟ้องแบ่งมรดกในคดีนี้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นเหตุตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องขอรับมรดกในคดีนี้ภายในอายุความ
ส่วนปัญหาการแบ่งทรัพย์มรดกนายกลับให้แก่โจทก์ควรเป็นครึ่งหนึ่งหรือ 1 ใน 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคดีปรากฏว่ามีนางจันยังเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกนายกลับเช่นเดียวกับโจทก์อีกคนหนึ่งแล้ว การที่นางจันนิ่งเฉยอยู่ จะว่านางจันสละมรดกหาได้ไม่และไม่มีเหตุที่จะเอาส่วนของนางจันไปให้แก่โจทก์ โจทก์ควรได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น (อ้างฎีกาที่ 391/2499)
พิพากษายืน