คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2793/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2503 มาตรา 5 บัญญัติว่าไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อไม้ยางแดงถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 จึงต้องแปลว่าไม้ยางแดงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 35/2515)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑มีไม้ยางแดงหนึ่งท่อน ที่ยังไม่แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้ยางแดงหนึ่งท่อนปริมาตร ๓.๑๓ ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม้ยางแดงของกลางเป็นไม้หวงห้ามโดยพระราชกฤษฎีกาจึงเป็นไม้หวงห้ามประเภทไม้อื่น หาใช่เป็นไม้ประเภทไม้ยางไม่ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔, ๖, ๗, ๔๗, ๔๘, ๔๙, ๖๙, ๗๐, ๗๓, ๗๔,๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๖, ๑๗พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๐๓ มาตรา ๕, ๑๒, ๑๗, ๑๘, ๒๑ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ปรับจำเลยที่ ๑ ฐานมีไม้หวงห้ามยังไม่แปรรูปโดยไม่รับอนุญาต ๒๐๐ บาท ปรับจำเลยทั้งสองฐานแปรรูปไม้และมีไม้หวงห้ามแปรรูปโดยไม่รับอนุญาตคนละ ๘๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๔๐๐ บาทบังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ไม้ยางแดงของกลางเป็นไม้ยางตามมาตรา ๗แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕ ซึ่งตามมาตรา ๖๙(๑) และมาตรา ๗๓(๑) บัญญัติว่าผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทถึง ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะอัตราโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสอง เป็นว่าจำคุกคนละ ๖ เดือน และปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๓ เดือน และปรับคนละ๑,๐๐๐ บาท แต่โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๑ ปี บังคับค่าปรับตามมาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ไม้ยางแดงที่โจทก์ฟ้องเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ในบัญชีที่ ๒ อันดับ ๑๔๑ ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. ๒๕๐๕ แต่พระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕บัญญัติว่า ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าเมื่อไม้ยางแดงที่โจทก์ฟ้องถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก.โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม้ยางแดงจึงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๔๗, ๔๘, ๗๓ วรรค ๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕, ๑๗ ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช๒๔๘๔ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๑มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗,๖๙ วรรค ๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕, ๑๒พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ อีกกระทงหนึ่งส่วนกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสองนั้น ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ของกลางริบ

Share