คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2792/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจาก ส. แต่ ส. ไม่มีเงินสดพอจึงได้ติดต่อขอให้โจทก์ยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อโจทก์ตกลงให้กู้จึงได้นำเงินมามอบให้แก่ ส. เพื่อส่งมอบให้จำเลย ซึ่งจำเลยได้รับเงินไปจาก ส. และมอบเช็คพิพาทให้ ส. ไปเป็นเช็คเงินสดหรือผู้ถือที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่าย การที่ ส. ส่งมอบเงินให้จำเลยและรับเช็คพิพาทจากจำเลยไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์ในฐานะตัวการ เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ส. นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คและมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 30,187 บาท กับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องตลอดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 187 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาท 30,000 บาท จำเลยจึงอุทธรณ์และฎีกาได้เฉพาะแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากนางสุนี สุทธมนัสวงศ์ แต่ขณะนั้นนางสุนีไม่มีเงินสดพอจึงได้ติดต่อขอให้โจทก์ยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อโจทก์ตกลงให้กู้จึงได้นำเงินมามอบให้แก่นางสุนีเพื่อส่งมอบให้จำเลยซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท ไปจากนางสุนี และมอบเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 จ.4 และ จ.6ให้นางสุนี เป็นเช็คเงินสดหรือผู้ถือที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่าย การที่นางสุนีส่งมอบเงินให้จำเลยและรับเช็คพิพาทจากจำเลยไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์ในฐานะตัวการต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้นางสุนีจึงนำเช็คทั้งสามฉบับไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาชุมแสง แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คและมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share