แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของผู้ตายได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายเช่นกัน หากจำเลยจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน จำเลยจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือมาเป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนไปยังโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ก่อนจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2522 แต่โจทก์ทั้งสามไม่ทราบถึงการยื่นคำคัดค้านดังกล่าว ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2529 เจ้าหน้าที่ที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับ น.ส.3 ก. โจทก์ทั้งสามไปรับแต่จำเลยไปคัดค้านไม่ยอมให้รับอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยถือได้ว่าเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือมาเป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตน ซึ่งนับถึงวันที่ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ ตามมาตรา 1375 จะนำอายุความตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้.
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกนายจิม นิยมหาญ โจทก์สำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 นางสนุก นิยมหาญ โจทก์สำนวนที่ 2 เป็นโจทก์ที่ 2 และนางเยิม นิยมหาญ โจทก์สำนวนที่ 3 เป็นโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรนายจีน นางสะเว็ง นิยมหาญ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 4 คน คือ นายยวน นิยมหาญบิดาโจทก์ที่ 2 นายยัน นิยมหาญ นางยน นิยมหาญหรือแผ่นใหญ่มารดาโจทก์ที่ 3 และนางเยย นิยมหาญ นายจีน นางสะเว็งถึงแก่กรรมไปเกินกว่า 10 ปีแล้ว มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ49 ไร่ โดยนายจีน นางสะเว็งมิได้ยกที่ดินให้แก่ทายาทคนใดและไม่ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ โจทก์ที่ 1กับจำเลยและบิดามารดาของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ตลอดจนทายาทคนอื่น ๆได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าของร่วมกันหรือแทนกันตลอดมา ครั้นปี 2522 ทางราชการได้ประกาศสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทางอากาศ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่บิดามารดาตามลำดับและจำเลยตลอดจนทายาทคนอื่นได้ตกลงแบ่งที่ดินซึ่งเป็นมรดกออกเป็น5 แปลงโดยแปลงที่ 1 แบ่งให้แก่นายยัน แปลงที่ 2 เนื้อที่ประมาณ9 ไร่ ราคาประมาณ 27,000 บาท แบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 แปลงที่ 3เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ราคาประมาณ 15,000 บาท แบ่งให้แก่บิดาโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 รับแทน แปลงที่ 4 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ราคาประมาณ 12,000 บาท แบ่งให้แก่มารดาโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 3 รับแทน และแปลงที่ 5 แบ่งให้แก่จำเลย ต่อมาเดือนพฤษภาคม2529 โจทก์ทั้งสามไปรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามส่วนแบ่งดังกล่าว จำเลยคัดค้านว่าเป็นที่ดินของจำเลย เจ้าหน้าที่ที่ดินเปรียบเทียบแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยให้แบ่งที่ดินแปลงที่ 2,3, 4 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสามตามส่วน
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกและขาดอายุความฟ้องเอาคืนการครอบครองแล้ว ขอให้ยกฟ้องทั้งสามสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทแปลงหมายเลข 166 เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา แปลงหมายเลข 165 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา และแปลงหมายเลข164 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทท้ายคำแถลงของโจทก์และจำเลย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 ให้แก่โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ขายทอดตลาดได้นั้นแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสามตามส่วน จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีการแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วนกันแล้ว จำเลยได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม จำเลยหาจำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบโดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังเป็นยุติว่าก่อนมีการแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาท จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ภายหลังจากที่จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาททั้งหมดอยู่เช่นเดิม แสดงให้เห็นว่าทั้งก่อนและภายหลังแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทแล้ว จำเลยได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนทายาทไม่ได้ยึดถือครอบครองเพื่อตน เมื่อจำเลยยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายแล้วต่อมาหากจำเลยจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน จำเลยจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองแทนมาเป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนไปยังโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ก่อน ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2522 เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2522 ไว้จริง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามทราบถึงการยื่นคำคัดค้านดังกล่าวของจำเลย แต่โจทก์ทั้งสามแต่ละสำนวนได้บรรยายฟ้องไว้ว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2529 เจ้าหน้าที่ที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับน.ส.3 ก. โจทก์ทั้งสามไปรับแต่จำเลยไปคัดค้านไม่ยอมให้รับอ้างว่าที่ดินตามน.ส.3 ก.ดังกล่าวเป็นของจำเลย ถือได้ว่าเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามเป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตน ซึ่งนับถึงวันที่ 14 เมษายน 2530อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับดังที่จำเลยฎีกาไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน