คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างหยุดงานและชุมนุมกันในบริเวณที่นายจ้างต้องใช้ทำงานผลิตและอยู่ใกล้สถานที่เก็บวัสดุไวไฟ นายจ้างไม่ยินยอมให้ลูกจ้างชุมนุมในบริเวณดังกล่าวจึงได้ขอร้องให้ไปชุมนุมที่อื่นในบริเวณโรงงานนั้นเองแต่ลูกจ้างคงขัดขืนชุมนุมกันอยู่ที่เดิมและก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างดังนี้ การกระทำของลูกจ้างเป็นการละเมิดต่อนายจ้างแล้วกรณีละเมิดและการเลิกจ้างเป็นคนละกรณีกันมิใช่ว่านายจ้างจะต้องเลิกจ้างก่อนแล้วการกระทำของลูกจ้างจึงจะเป็นการละเมิด
การนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีร่วมกันไม่ทำงานให้แก่นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น การกระทำอย่างอื่นเช่น การปิดกั้นถนน หรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น ย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด ผู้กระทำจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 99
เมื่อลูกจ้างเป็นผู้กระทำละเมิดเอง ลูกจ้างก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นโดยไม่คำนึงว่าสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกจะสั่งให้ลูกจ้างกระทำหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้หยุดงานและทำละเมิดต่อโจทก์โดยชุมนุมกันภายในโรงงานข้างคลังสินค้าและห้องเก็บวัสดุไวไฟ ไม่ยอมออกจากสถานที่ดังกล่าว ทั้งยังได้ข่มขู่และขัดขวางคนงานอื่นไม่ให้ทำงาน ปิดกั้นถนน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทุกคนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์วันละ 150,000 บาท ให้จำเลยออกไปจากบริเวณโรงงานของโจทก์และยุติการปิดกั้นถนน ข่มขู่และขัดขวางการทำงานของโจทก์

วันนัดพิจารณาจำเลยมาศาลไม่ยอมให้การถึงเนื้อหาของฟ้อง แต่ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เสียหายถึงจำนวนตามฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้ง 73 คนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 48,000 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 และจำเลยที่ 19 ถึงที่ 73 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ชุมนุมกันในบริเวณที่โจทก์ต้องใช้ทำงานผลิตแผ่นพื้นซีเมนต์สำเร็จรูปซึ่งอยู่ระหว่างอาคารที่เป็นโกดังเก็บสินค้าประเภทพลาสติกและห้องเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและทินเนอร์อันเป็นวัสดุไวไฟทำการกินอยู่หลับนอนก่อไฟทำครัวในบริเวณดังกล่าว ดังนี้เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองไม่ยินยอมให้จำเลยชุมนุมในบริเวณนั้น อ้างว่าโจทก์ต้องใช้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ผลิตแผ่นพื้นซีเมนต์ ได้ขอร้องให้ไปชุมนุมที่อื่นในบริเวณโรงงานนั่นเอง แต่จำเลยกับพวกไม่ไป คงขัดขืนชุมนุมกันอยู่ที่เดิม ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีละเมิดและการเลิกจ้างเป็นคนละกรณีกันไม่ใช่ว่านายจ้างจะต้องเลิกจ้างก่อนแล้วการละเมิดจึงเกิดขึ้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ ฉะนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายอันเป็นผลจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์ ส่วนคำชี้แจงของกระทรวงมหาดไทย ที่ว่า การปิดงานและนัดหยุดงานจะต้องดำเนินอยู่ในสถานที่ตั้งของสถานประกอบการเท่านั้นก็เป็นเพียงแนวปฏิบัติเพื่อไม่ให้ไปวุ่นวายก่อความไม่สงบในที่สาธารณะเท่านั้น ประกอบทั้งกรณีจำเลยนี้ โจทก์มิได้ให้ออกไปชุมนุมนอกบริเวณโรงงาน เพียงขอให้จำเลยไปชุมนุมที่อื่นซึ่งอยู่ภายในบริเวณโรงงานนั้นเอง เมื่อจำเลยไม่ยอมยังคงขัดขืนชุมนุมกันอยู่ที่เดิมต่อไปทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยก็ต้องรับผิด

คำว่า “การนัดหยุดงาน” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 5 บัญญัติไว้หมายความว่า “การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน” เห็นว่า การนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีร่วมกันไม่ทำงานให้นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น การกระทำอย่างอื่นเช่นการปิดกั้นหรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้น ย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใดและเมื่อมิใช่การนัดหยุดงานและไม่มีกฎหมายระบุให้กระทำได้โดยไม่ต้องรับผิดดังเช่นที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 99 แล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงานนี้จำเลยได้กระทำไปตามคำสั่งของสหภาพแรงงานซึ่งเป็นคู่กรณีกับโจทก์ จำเลยเพียงกระทำการไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่เรียกร้องให้สหภาพแรงงานรับผิด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย ไม่ว่าสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยจะสั่งให้จำเลยกระทำหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดเอง จำเลยก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น

พิพากษายืน

Share