คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมถึง ห.ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และ 1087 เมื่อ ห. ถึงแก่ความตาย ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรจึงตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และ 1600 และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จึงต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1736 การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทน ห. ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่กองมรดกค้างชำระอยู่
การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้อีกฉบับหนึ่งหลังจากฉบับแรก 9 เดือนขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างไปอีกคราวหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับที่สองทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. เนื่องจากจำเลยทำบันทึกดังกล่าวขึ้นเพื่อขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างตามที่ได้มีการทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับแรก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดก ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1737
แม้จำเลยจะทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โดยไม่โต้แย้งทั้งสิ้น แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของ ห. เจ้ามรดกนั้น ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 นอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 1724 ด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และ 246

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของโจทก์อาศัยอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 71 (1) ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดระบิลก่อสร้าง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และปี 2527 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 810,630 บาท ซึ่งนางหวยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ แต่นางหวยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2537 จำเลยซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของนางหวยได้ทำหนังสือให้ไว้แก่โจทก์รับจะชำระหนี้ดังกล่าวให้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 810,630 บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวย บำรุงกลาง ชำระหนี้ภาษีอากรค้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดระบิลก่อสร้างจำนวน 810,630 บาท แก่โจทก์โดยจำเลยต้องร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวไม่เกิน 597,882 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัว ฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นจำนวน 810,630 บาท ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวนั้นรวมถึงนางหวยในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และ 1087 เมื่อนางหวยถึงแก่ความตายความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรจึงตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และ 1600 และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ จึงต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการซึ่งผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1736 ฉะนั้น การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทนนางหวยในฐานะทายาทโดยธรรม และในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวยหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว จึงเป็นการกระทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่กองมรดกค้างชำระอยู่ ซึ่งขณะที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวมีหนี้ค่าภาษีอากรค้างจำนวน 597,882 บาท ต่อมาจำเลยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระตามที่ได้ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้ติดตามทวงถามจำเลยอีกครั้ง จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวยจึงทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ ซึ่งทำขึ้นหลังจากฉบับแรกประมาณ 9 เดือน โดยจำเลยขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างไปอีกคราวหนึ่ง บันทึกดังกล่าวแม้จะไม่มีการระบุว่าจำเลยทำในฐานะทายาทโดยธรรมของนางหวย แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ ทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวยหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ทั้งสองฉบับในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1737 และแม้จำเลยจะทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โดยไม่โต้แย้งทั้งสิ้น แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของนางหวยซึ่งเป็นเจ้ามรดกนั้น ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 นอกจากนี้การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกอีกฐานะหนึ่ง ย่อมแสดงว่าจำเลยมิใช่ลูกหนี้โจทก์โดยตรง จำเลยเพียงแต่ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นบุตรี และเป็นผู้จัดการมรดกนางหวยผู้ถึงแก่ความตายที่เป็นลูกหนี้โจทก์เท่านั้น จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเช่นกันตามมาตรา 1724 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และ 246
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหวย บำรุงกลาง ชำระเงินจำนวน 810,630 บาท แก่โจทก์

Share