คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2786/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายให้ร่วมกันนำเงินและทรัพย์สินในกองมรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เป็นกรณีที่เจ้าหนี้กองมรดกฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาท เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกแม้ต่อมาจำเลยทั้งสองได้สละมรดกเสียในระหว่างพิจารณา โจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว หากแต่ฟ้องในฐานะเป็นทายาทและก็เพื่อให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายศุภณรงค์ ทั่งกลาง รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับงานทั่วไปของกรมการศาสนาโดยทำหน้าที่จัดประโยชน์ศาสนสมบัติของวัดต่างๆ รวมทั้งรับและเก็บรักษาผลประโยชน์ของวัดต่างๆ เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ นายศุภณรงค์ได้รับเงินจากผู้นำมาชำระให้แก่วัดต่างๆ หลายรายรวม ๗๒,๑๔๐.๘๑ บาท แล้วไม่นำยอดเงินลงรับในสมุดเงินสดรายวันของที่ทำการศึกษาธิการอำเภอเมืองสมุทรสงครามและนำเงินไปฝากเข้าบัญชีของแต่ละวัดตามระเบียบหน้าที่ราชการ กลับเบียดบังยักยอกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ต่อมานายศุภณรงค์ถึงแก่กรรม โจทก์ได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยทั้งสองฐานะทายาทผู้รับมรดกนำเงินและทรัพย์สินกองมรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเงินและทรัพย์สินกองมรดกของนายศุภณรงค์มาชำระแก่โจทก์เป็นเงิน ๗๒,๑๔๐.๘๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายศุภณรงค์ไม่ได้ยักยอกเงินผลประโยชน์ของวัดดังฟ้อง โจทก์ไม่เคยทวงเตือนจำเลย จำเลยยังไม่ได้รับมรดกของนายศุภณรงค์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
วันชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ แถลงว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสละมรดกของนายศุภณรงค์แล้ว และในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ให้ความยินยอมในการสละมรดกของผู้เยาว์ทั้งสาม (จำเลยที่ ๒) ได้ ซึ่งจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำหนังสือสละมรดกของนายศุภณรงค์ต่อนายอำเภอเมืองสมุทรสงครามตามคำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อจำเลยสละมรดกของนายศุภณรงค์แล้วจำเลยก็ไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรม หากจะดำเนินคดีต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์จึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายได้ แม้จำเลยทั้งสองจะสละมรดกของผู้ตายแล้วก็ตาม พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกจะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาท เมื่อบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๔ บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา ๑๗๓๗ บัญญัติว่าเจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย ดังนี้ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทร่วมกันนำเงินและทรัพย์สินในกองมรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้กองมรดกฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาท เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นทายาทได้ตามที่กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจไว้ แม้จะปรากฏว่าจำเลยสละมรดกเสียในระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้เพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหากแต่ฟ้องในฐานะเป็นทายาท และก็เพื่อให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกดังกล่าวแล้วเท่านั้น จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share