คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงได้ตามคำฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการในการกู้ยืมเงินธนาคารมาดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนตามหนังสือสัญญาร่วมลงทุนถือหุ้นดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินขายพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ. 2 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 ลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ. 2 แต่ไม่ปรากฏว่าได้ประทับตราห้างจำเลยที่ 4 การลงชื่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำส่วนตัว ย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ต้องรับผิดร่วมชำระหนี้ด้วยนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คู่ความโต้เถียงกันว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนในการกู้เงินหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญากู้หรือสัญญาซื้อขายที่ดิน แม้การตั้งจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะมิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็มีผลบังคับ
โจทก์ที่ 1 เป็นตัวการเข้าทำสัญญาหุ้นส่วนกับฝ่ายจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จัดกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนโดยไม่ถูกต้อง และให้จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางแปลงอันทำให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น หาได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ โจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ตกลงเป็นหุ้นส่วนกัน ลงทุนเท่า ๆ กันในการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๐๙ และโฉนดเลขที่ ๗๐๔๔ เพื่อจัดสรรขายพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีโจทก์ที่ ๒ เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ ในการถือกรรมสิทธิ์เพื่อสะดวกในการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย และจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ เป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ ในการถือกรรมสิทธิ์เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป ส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนของหุ้นส่วนในการกู้เงินจากธนาคารมาดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วน ต่อมาไม่สามารถดำเนินกิจการร่วมกันได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ ล่วงละเมิดข้อบังคับในสัญญาหุ้นส่วน โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ สั่งจ่ายเช็คโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ นำเงินไปใช้ในกิจการส่วนตัว ๑,๓๔๔,๒๑๕ บาท ขายที่ดินบางส่วน โดยโจทก์ทั้งสองไม่รู้เห็นและยินยอม ทำการซ่อนเร้นบัญชีรับจ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน โดยไม่ให้โจทก์ทั้งสองตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีเจตนาเบียดบังทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนไปเป็นของตน และให้จำเลยที่ ๓ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๔๓๘ ของหุ้นส่วน ทำให้โจทก์ไม่สามารถร่วมกิจการตามสัญญาหุ้นส่วนต่อไป อันเป็นการเหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนของโจทก์จำเลยจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ขอให้มีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ให้โจทก์ที่ ๑ หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ชำระเงิน ๑,๓๔๔,๒๑๕ บาท คืนห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๓ โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๔๓๘ คืนให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนในการชำระบัญชีให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ฝ่ายละกึ่งแก่บุคคลภายนอก แบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนให้โจทก์และจำเลยคนละส่วนเท่ากัน ถ้าไม่สามารถแบ่งกันได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก ส่วนที่เหลือให้แบ่งระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ คนละส่วนเท่ากัน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเข้าลงทุนเป็นห้างหุ้นส่วนในการซื้อที่ดิน เพราะโจทก์ที่ ๑ ไม่เคยออกเงินในการซื้อที่ดิน จำเลยที่ ๔ เป็นฝ่ายออกเงินซื้อ เหตุที่มีชื่อโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและจำเลยดังกล่าวเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๔ ที่ดินจึงเป็นของจำเลยที่ ๔ ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสองระบุในฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๔ มิใช่ของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน รถแทรกเตอร์แบ็กโฮ และเครื่องตบดิน เป็นของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ไม่เคยเป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับ ให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ชำระเงิน ๑,๓๔๔,๒๑๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ห้างหุ้นส่วน ตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี โดยโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย คำขออื่นและคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓ ให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ต้องชำระเงินจำนวน ๑,๓๔๔,๒๑๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ ประเด็นนี้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ โต้แย้งคัดค้านที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นตัวการในการกู้ยืมเงินธนาคารมาดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนตามหนังสือสัญญาร่วมลงทุนถือหุ้นดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินขายพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ. ๒ ที่มีข้อความว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ เข้าหุ้นกัน มีโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ลงชื่อเป็นคู่สัญญา มีจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๔ ลงชื่อเป็นพยาน ความข้อนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อ้างว่า แม้จำเลยที่ ๒ ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาร่วมลงทุนถือหุ้นดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินขายพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เอกสารหมาย จ. ๒ แต่ไม่ปรากฏว่าได้ประทับตราห้างจำเลยที่ ๔ อันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๔ แต่อย่างใด การลงชื่อจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการกระทำส่วนตัว ย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ต้องรับผิดร่วมชำระหนี้ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกาว่า การซื้อขายที่ดินและการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์ที่ ๑ อ้างว่าจำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฏว่าได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือในการเป็นตัวแทนอันฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ นั้น เห็นว่า ในระหว่างธุรกิจการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินการอยู่นั้น จำเลยที่ ๔ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๔ เป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้ในการดำเนินงานของผู้เป็นหุ้นส่วนตามวัตถุประสงค์โดยปราศจากข้อคัดค้านแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่คู่ความโต้เถียงกันว่าจำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนในการกู้เงินหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญากู้หรือสัญญาซื้อขายที่ดิน เช่นนี้ แม้การตั้งจำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ จะมิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลบังคับ
อนึ่ง คดีนี้ได้ความตามคำฟ้องและทางพิจารณาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นตัวการเข้าทำสัญญาหุ้นส่วนกับฝ่ายจำเลย โจทก์ที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น หาได้เข้าเป็นคู่สัญญาหุ้นส่วนกับฝ่ายจำเลยด้วยไม่ การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จัดกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนโดยไม่ถูกต้อง และให้จำเลยที่ ๓ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางแปลงอันทำให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ ๑ เท่านั้น หาได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ ๒ ด้วยไม่ โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share