แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประกาศข้อ 10 กำหนดว่าวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับจากประกาศดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดก็ได้ แต่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยไม่ได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะหากทำเช่นนั้นได้ นายจ้างก็สามารถฉวยโอกาสทวงถามเรียกร้องค้ำประกันให้ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเกินกว่า 60 เท่าดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายเต็มตามสัญญาหรือเกินกว่า 60 เท่า ตามกฎหมายจากผู้ค้ำประกันซึ่งอาจไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว เหมือนที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนซึ่งเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยก่อนที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันตามฟ้องตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องชอบด้วยเหตุและผลแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 40,090.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ลูกจ้างทั้งสองซึ่งมีจำเลยค้ำประกันการทำงานทำความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมียอดเงินคงเหลือค้างชำระ 168,330.36 บาท จำเลยค้ำประกันลูกจ้างทั้งสองในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 โดยระบุในสัญญาค้ำประกันว่าจะรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่ลูกจ้างทั้งสองก่อหนี้จนครบจำนวน แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันการทำงานที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์ดังกล่าวขัดกับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวต่อโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประกาศข้อ 5 หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) เงินสด 2) ทรัพย์สิน 3) การค้ำประกันด้วยบุคคล สัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลที่จำเลยกระทำไว้ต่อโจทก์ย่อมเป็นหลักประกันตามประกาศฉบับนี้ กรณีนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล ประกาศข้อ 10 กำหนดว่าวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยข้อ 10 วรรคสอง กำหนดให้นายจ้างจัดทำหนังสือค้ำประกัน 3 ฉบับ ให้นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดก็ได้ แต่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยไม่ได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะหากทำเช่นนั้นได้ นายจ้างก็สามารถฉวยโอกาสทวงถามเรียกร้องผู้ค้ำประกันให้ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเกินกว่า 60 เท่าดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายเต็มตามสัญญาหรือเกินกว่า 60 เท่า ตามกฎหมายจากผู้ค้ำประกันซึ่งอาจไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว เหมือนที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนซึ่งเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยก่อนที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันตามฟ้องตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องชอบด้วยเหตุและผลแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน