คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 137, 264, 267, 341, 352, 353 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 3 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยแต่ละกระทงความผิดเป็นความผิดตามกฎหมายข้างต้น อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละกระทง จำคุกคนละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกคนละ 9 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศบริติช เวอร์จิน ไอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าขาย มีนายดิเรกเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทน โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงร่วมลงทุนกันซื้อที่ดินในจังหวัดภูเก็ตนำมาพัฒนาเป็นบ้านพักอาศัยและอาคารพาณิชย์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ตกลงกันให้โจทก์โดยนายดิเรกลงทุน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์โอนเงิน 129,000,000 บาท แทนจำนวนที่ตกลงกันไว้ โดยมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะคืนเงินที่โจทก์ลงทุนไปทั้งหมดจำนวน 129,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และจะให้ค่าตอบแทนเป็นการรับประกันการลงทุนจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินปันผลร้อยละ 40 ของผลกำไรที่ได้รับจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งบริษัทพีซฟุลล์ เรสซิเดนซ์ คอร์ป จำกัด เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมการตามหนังสือรับรอง แม้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัทพีซฟุลล์ เรสซิเดนซ์ คอร์ป จำกัด จำนวน 7,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นเงินลงทุน 700,000 บาท จากทุนที่จดทะเบียน 2,000,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเงินทุนที่ใช้ประกอบธุรกิจค้าที่ดินของบริษัทพีซฟุลล์ เรสซิเดนซ์ คอร์ป จำกัด นั้น เป็นเงินของโจทก์ 129,000,000 บาท ที่โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่านบริษัทเอ็ม เอวิลี แอนด์ คอลลินส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินที่ได้จากโจทก์ไปซื้อที่ดินจำนวน 2 แปลง แต่ภายหลังมีการแบ่งแยกเป็น 9 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 35425, 35426, 35427, 35428, 35430, 8465, 8466, 35819 และ 35968 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมีชื่อบริษัทพีซฟุลส์ เรสซิเดนซ์ คอร์ป จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อันแสดงว่าโจทก์ไม่ใช่เพียงผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นที่ประสงค์ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลเท่านั้น แต่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าที่ดิน ในนามของบริษัทพีซฟุลล์ เรสซิเดนท์ คอร์ป จำกัด ด้วยเงินลงทุนของโจทก์ 129,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ คนละ 2 หุ้น เห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวชี้ชัดว่า โจทก์เป็นเจ้าของเงินทุนที่แท้จริงที่ใช้ซื้อที่ดินเพื่อการค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการค้าที่ดิน จากข้อเท็จจริงตามฟ้องและที่รับฟังเป็นยุติปรากฏชัดเจนว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ถือได้ว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 (2) ซึ่งตามมาตรา 8 (1) ภายใต้บังคับมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 10 และมาตรา 12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามที่กำหนดไว้ในบัญชีหนึ่ง โดยบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญชีหนึ่ง (9 ) ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ คือ การค้าที่ดิน เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงร่วมลงทุนกันซื้อที่ดินในจังหวัดภูเก็ตนำมาพัฒนาเป็นบ้านพักอาศัยและอาคารพาณิชย์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจการค้าที่ดินซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท คือเอกสารรายงานการประชุมวิสามัญครั้งที่ 1/2551, 2/2551 และ 3/2551 เพื่อลวงให้โจทก์ผู้เป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจของโจทก์ซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายนั่นเอง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share