คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13924/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ผู้จัดการส่วนจะต้องกำหนดเป้าหมายของการทำงาน (KPI) และจะต้องให้พนักงานลงลายมือชื่อรับทราบตลอดจนมีโอกาสโต้แย้งดุลพินิจในการประเมิน อ. ผู้จัดการส่วนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ให้พนักงานรับทราบ ไม่ทำการประเมินตามระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ใช้อำนาจประเมินตามอำเภอใจ ทำให้โจทก์ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2548 ไม่ถึง 1 ขั้น เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามความสามารถที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ใหม่ และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 ไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่โจทก์เรียกร้องให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องไปดำเนินการให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้โจทก์ต้องไปดำเนินการอย่างใดก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ และจำเลยต้องประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ใหม่หรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์ยกเหตุที่ไม่อยู่ในประเด็นแห่งคดีขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ต.24/2549 เรื่อง ขั้นเงินเดือนพนักงานประจำปี 2548 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ แล้วให้จำเลยมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ใหม่ ให้โจทก์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนอย่างน้อยที่สุดให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 58,837 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของเงินเดือนตามคำสั่งของจำเลยที่ ต.24/2549 และคำสั่งใหม่ของเงินเดือนเดือนมกราคม 2549 ถึงวันที่มีคำสั่งใหม่ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ต.24/2549 เรื่อง การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานประจำปี พ.ศ.2548 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ โดยให้จำเลยดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานตั้งแต่ระดับ 9 ลงมาประจำปี 2548 และดำเนินการเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ตามผลของการประเมินดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้แย้งกันได้ความว่า เดิมจำเลยเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ต่อมารัฐบาลมีนโยบายนำทุนทั้งหมดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเปลี่ยนเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัทตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จึงจดทะเบียนเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 เมษายน 2534 พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ วันที่ 8 เมษายน 2543 พระราชบัญญัติแรงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับ โดยมาตรา 5 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 เดิมจำเลยใช้ระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2539 ซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้เลื่อนขั้นเงินเดือนแบบระบบขั้นวิ่ง มีตั้งแต่ 1 ขั้น 1 ขั้นครึ่งและ 2 ขั้น ในปี 2547 จำเลยเปลี่ยนการขึ้นเงินเดือนจากระบบขั้นวิ่งเป็นระบบร้อยละ คู่ความไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร
มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าในการประเมินผลปฏิบัติงานของพนักงาน ผู้จัดการส่วนจะต้องกำหนดเป้าหมายของการทำงาน (KPI) และจะต้องให้พนักงานลงลายมือชื่อรับทราบตลอดจนมีโอกาสโต้แย้งดุลพินิจในการประเมิน นายอนันต์ผู้จัดการส่วนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน (KPI) ให้พนักงานลงชื่อรับทราบ ไม่ทำการประเมินผลการปฏิบัติงานตามระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ใช้อำนาจประเมินตามอำเภอใจ ทำให้โจทก์ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2548 ไม่ถึง 1 ขั้น เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามความสามารถที่แท้จริง ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ต.24/2549 เรื่อง ขั้นเงินเดือนพนักงาน ประจำปี 2548 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ แล้วจำเลยมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ใหม่ ให้โจทก์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนอย่างน้อย 1 ขั้น และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 ไม่เป็นไปตามความสามารถและไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่โจทก์เรียกร้องให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องไปดำเนินการให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โจทก์ฟ้องก็เพื่อขอให้ศาลแรงงานกลางบังคับให้จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 ใหม่ ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้โจทก์ต้องไปดำเนินการอย่างใดก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในเรื่องอำนาจฟ้องมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ระเบียบฉบับเดิม คือ ระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2539 แล้วนำระเบียบว่าด้วยการขั้นเงินเดือนพนักงาน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นระเบียบฉบับใหม่มาใช้แทนได้โดยพลการ หากจำเลยต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบฉบับเดิมอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจะต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 25 ถึงมาตรา 32 คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ไม่มีอำนาจแก้ไขระเบียบดังกล่าว นั้น เมื่อโจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 โดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยระเบียบ ขอให้บังคับจำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ให้แก่โจทก์ใหม่ เพื่อให้โจทก์ได้รับผลการประเมินขั้นต่ำอัตราร้อยละ 7.5 หรือเทียบได้เท่ากับ 1 ขั้น ตามระเบียบฉบับเดิม โดยมิได้กล่าวอ้างในคำฟ้องอย่างชัดแจ้งมาแต่แรกว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระบบการประเมินผลจากระบบขั้นวิ่งตามระเบียบว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2539 มาเป็นระบบร้อยละตามระเบียบว่าด้วยการขึ้นเงินเดือนพนักงาน พ.ศ.2548 ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้การบังคับใช้ระบบการประเมินผลตามระเบียบฉบับใหม่ไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ คำฟ้องโจทก์ปรากฏชัดเพียงว่าโจทก์ปรากฏชัดเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ให้แก่โจทก์ใหม่ เพื่อให้โจทก์ได้รับการประเมินอัตราร้อยละ 7.5 หรือเทียบเท่ากับ 1 ขั้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าจำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ของโจทก์ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น และจำเลยต้องประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ใหม่ โดยให้โจทก์ได้รับผลการประเมินอัตราร้อยละ 7.5 หรือเทียบเท่ากับการเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้น หรือไม่ เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ยกเหตุที่ไม่อยู่ในประเด็นแห่งคดีขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ส่วนนี้ของโจทก์ที่ ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว
พิพากษายืน

Share