แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินที่จำเลยบุกรุกเข้าไปทำการก่นสร้าง แผ้วถาง เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริง หากไม่ใช่ป่าสงวนแห่งชาติจำเลยย่อมไม่มีความผิดและแม้จะเป็นป่าสงวนแห่งชาติแต่จำเลยเข้าก่นสร้าง แผ้วถางโดยไม่ทราบว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติจำเลยก็ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเพียงผู้รับจ้างเข้าทำไร่มันสำปะหลังให้จำเลยที่ 1 โดยสภาพพื้นที่เคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อน จำเลยที่ 2ถึงที่ 7 ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งโจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติและตามสภาพที่ดินก็ไม่มีต้นไม้ใหญ่กลับเป็นไร่มันสำปะหลังทั้งไม่มีป้ายแนวเขตว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติพฤติการณ์ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าที่เข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางเป็นป่าสงวนแห่งชาติเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 11, 12, 18, 58, 62, 81 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31 ให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสี่ (ที่ถูกมาตรา 31วรรคสอง) ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 6 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 1 ปีลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62, 81 ลดมาตราส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ 6กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว จำคุกจำเลยที่ 4ที่ 5 และที่ 7 กระทงละ 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 6 กระทงละ 1 เดือนรวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 คนละ 2 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด1 ปี 2 เดือน จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 มีกำหนดคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7มีกำหนดคนละ 1 ปี 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 7 เดือนริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งเจ็ดในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานป่าไม้เขตอำเภอทองผาภูมิเจ้าพนักงานตำรวจป่าไม้ สายตรวจป่าไม้จังหวัดและป่าไม้เขตได้ตรวจบริเวณป่าเขาพระฤาษี เขาบ่อแร่ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติพบจำเลยทั้งเจ็ดกำลังดายหญ้าทำไร่มันสัมปะหลังอยู่ โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นผู้รับจ้างทำไร่มันสัมปะหลังให้จำเลยที่ 1เจ้าพนักงานจึงได้ทำการจับกุมจำเลยทั้งเจ็ดส่งพนักงานสอบสวนบริเวณที่จำเลยทั้งเจ็ดดายหญ้าอยู่ไม่มีสภาพเป็นป่า ไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีร่องรอยการปลูกมันสัมปะหลังมานานแล้ว แต่ไม่มีการออกกฎหมายยกเลิกการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยจะอ้างให้พ้นผิดโดยไม่ทราบว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกก่นสร้าง แผ้วถางหรือยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติฉะนั้นที่ดินที่จำเลยบุกรุกเข้าไปกระทำการก่นสร้าง แผ้วถางเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยย่อมไม่มีความผิดและจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ย่อมอยู่ที่พยานหลักฐานของโจทก์หรือพฤติการณ์ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้วบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง จึงจะมีความผิด เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการก่นสร้าง แผ้วถาง โดยไม่รู้ว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติแม้ความจริงจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยย่อมไม่มีความผิด จำเลยสามารถอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพื่อให้พ้นผิดได้โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เพียงแต่เป็นผู้รับจ้างเข้าทำไร่มันสัมปะหลังให้จำเลยที่ 1 โดยสภาพพื้นที่เคยปลูกมันสัมปะหลังมาก่อน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้เช่าที่ดินมาจากนายเครื่อง ปิงยศ และเพิ่งอ้างหลักฐานในชั้นศาลถ้ามีหลักฐานจริงน่าจะอ้างแต่ชั้นจับกุมนั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างในชั้นศาลซึ่งอาจจะคิดว่าจำเลยที่ 1คงมีพิรุธ แต่ข้อสำคัญพยานโจทก์ที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1ทราบหรือไม่ว่าที่บุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง เป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และตามพฤติการณ์ของสภาพที่ดินที่เข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางก็ไม่มีต้นไม้ใหญ่กลับเป็นไร่มันสัมปะหลังทั้งไม่มีป้ายแนวเขตว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติเลย พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าที่เข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในข้อหานี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน