แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบริษัท ง. โดยวิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการประกันการชำระหนี้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ค้ำประกันและจำนอง การที่โจทก์อ้างถึงตั๋วสัญญาใช้เงินก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินและชำระหนี้เงินกู้ยืม กรณีจึงหาใช่ฟ้องบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ ซึ่งการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำคำขอกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,778,979.45 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8739 ตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,041,993.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็มโออาร์. บวก 3 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับจากวันที่ 27 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8739 ตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระแก่โจทก์จนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า รวมแล้วอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ต้องไม่เกินร้อยละ 21 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) ไปครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้และไม่ได้รับเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) นั้น จึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 หรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงมีอายุความ 3 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส .ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) โดยวิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการประกันการชำระหนี้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ค้ำประกันและจำนอง การที่โจทก์อ้างถึงตั๋วสัญญาใช้เงินก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินและชำระหนี้เงินกู้ยืม กรณีจึงหาใช่ฟ้องบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ ซึ่งการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำคำขอกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามีเพียง 1,651,376.15 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นละ 41,285 บาท ที่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามา 44,475 บาท 44,317.50 บาท ตามลำดับ เป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสาม”
พิพากษายืน คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ