คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15216/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินข้างเคียงรวมถึงที่ดินพิพาททำเป็นลานตากกากมันสำปะหลังจากผู้ครอบครองเดิมนานมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่างก็ถึงแก่ความตายไปหมด แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานเท่านั้น เจ้าของที่ดินเดิมจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้สละการครอบครองให้แก่ ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทต่อมา จำเลยที่ 2 ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 11105 ตำบลเหมือง (บ้านเหมือง) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ที่จำเลยที่ 1 ออกทับที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 44 ตำบลเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของโจทก์นั้นเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2 พร้อมบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 44 ตำบลเหมือง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ของโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ขนย้าย โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากที่ดินของโจทก์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทคือ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 44 หมู่ที่ 3 ตำบลเหมือง (บ้านเหมือง) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีชื่อนายหนอม และนางแม็ด บิดามารดาโจทก์เป็นผู้ครอบครอง ที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2 หมู่ที่ 12 ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีชื่อนายไสว สามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทางด้านทิศใต้ ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2512 ได้มีการออกโฉนดเลขที่ 11105 แทนที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 44 มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ครั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2512 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายประชา ภายหลังนายประชาถึงแก่ความตายนางประสาน ภริยานายประชาซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชาได้โอนที่ดินข้างต้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2517
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางปราณี น้องสาวต่างบิดามารดากับโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เดิมที่ดินพิพาทของนายหนอมและนางแม็ดบิดามารดาโจทก์ ต่อมานายหนอมถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่นางแม็ด และได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนนางแม็ดถึงแก่ความตายเมื่อปี 2523 หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยเมื่อปี 2532 โจทก์ได้รื้อบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทไปปลูกในที่ดินซึ่งโจทก์อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 1 กิโลเมตร แต่โจทก์ยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ฝ่ายจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า นายไสวสามีจำเลยที่ 1 และนายประชาบิดาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยที่ 1 ต่างทำกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง นายไสวและนายประชาร่วมกันซื้อที่ดินข้างเคียงรวมถึงที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นลานตากกากมันสำปะหลัง กับมีนายวอน ซึ่งเป็นช่างประจำโรงงานเบิกความเป็นพยานว่า นายประชาบิดาจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินด้านหน้าติดถนน นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยทั้งสองยังมีนายสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลแสนสุข ซึ่งอยู่ติดต่อกับตำบลเหมืองที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ นายสุทนต์ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ที่ดินพิพาท นายชุ่ม อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดท้ายดอน ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 150 เมตร ต่างเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ช่วงที่นายประชามีชีวิตอยู่ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นลานตากกากมันสำปะหลังตลอดมาไม่เคยเห็นโจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า ที่ดินพิพาทโอนมาเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2517 หลังจากนายประชาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ให้คนจีนชื่อเจ๊กหยู เช่าทำกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังนานราว 5 ถึง 6 ปี เจ๊กหยูถึงแก่ความตาย บุตรชายเจ๊กหยูได้เช่าต่อมาอีก 7 ถึง 8 ปี จึงเลิกกิจการ ภายหลังจำเลยที่ 2 ได้รื้อโรงงานและปรับพื้นที่ให้คนเช่าทำร้านเคาะพ่นสีรถยนต์ เห็นว่า พยานโจทก์คงเบิกความลอย ๆ ว่า โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้ความว่าโจทก์ทำประโยชน์อะไรในที่ดินพิพาท กลับปรากฏจากคำเบิกความของนางปราณีน้องสาวโจทก์ว่า ก่อนที่จะมีการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่ว่างเปล่า ส่วนจะมีผู้ใดครอบครองหรือไม่ ไม่ทราบ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายไสวสามีจำเลยที่ 1 และนายประชาบิดาจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินข้างเคียงรวมถึงที่ดินพิพาททำเป็นลานตากกากมันสำปะหลังจากผู้ครอบครองเดิมนานมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่างก็ถึงแก่ความตายไปหมด แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานเท่านั้น เจ้าของที่ดินเดิมจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายไสวสามีจำเลยที่ 1 และนายประชาบิดาจำเลยที่ 2 ถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายไสวสามีจำเลยที่ 1 และนายประชาบิดาจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และ 1378 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทต่อมา จำเลยที่ 2 ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมิใช่เป็นของโจทก์ ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share