แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ ที่กำหนดให้คัดสำเนาประกาศรัฐมนตรีซึ่งกำหนดขึ้นตามบทแห่งกฎหมายดังกล่าวประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นแต่เพียงการกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงประกาศรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่บทบังคับอันเป็นองค์ประกอบความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 โดยประกาศดังกล่าวได้มีการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบโดยทั่วกัน และจำเลยกับพวกได้ทราบแล้ว ซึ่งจำเลยไม่เคยโต้เถียงทั้งไม่ฎีกาว่าท้องที่เกิดเหตุมิใช่เขตควบคุมการแปรรูปไม้ แสดงว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ซึ่งจะใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ ก็เป็นข้อที่จำเลยจะต่อสู้ขึ้นมาให้เห็นเป็นประเด็นในศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่า ได้มีการคัดสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับผู้อื่นร่วมกันมีไม้สักแปรรูป อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48, 73, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 92 นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4629/2544 ของศาลชั้นต้นและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 73 วรรคสอง (1)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คงจำคุก 4 ปี ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4629/2544 นั้น คดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษา คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ด้วย คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นายสุใจ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4124/2544 ของศาลชั้นต้นร่วมกับพวกมีไม้สักแปรรูป อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 126 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 1.19 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับนายสุใจด้วยหรือไม่ จำเลยฎีกาเพียงประการเดียวว่า โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าได้มีการคัดสำเนาประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ปิดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าโจทก์มิได้นำสืบว่า ท้องที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เห็นว่า จำเลยได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวแล้วในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาที่มีแต่เฉพาะข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมกับนายสุใจมีไม้สักแปรรูปของกลางไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ท้องที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ได้มีการคัดสำเนาประกาศกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ปิดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปเสียเลย โดยคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกมีไม้สักแปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 47, 75 โดยประกาศดังกล่าวได้มีการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกำนัน ที่สาธารณสถานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่เกิดเหตุให้ทราบโดยทั่วกันและจำเลยกับพวกได้ทราบแล้ว ซึ่งโจทก์จะได้นำส่งศาลในชั้นพิจารณาต่อไป แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบพยานหรืออ้างส่งพยานหลักฐานว่าได้มีการปิดสำเนาประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรว่า ท้องที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้แต่อย่างใด เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงเป็นดังนี้แล้ว จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยต่อไป เห็นว่า มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่กำหนดให้คัดสำเนาประกาศรัฐมนตรีซึ่งกำหนดขึ้นตามบทแห่งกฎหมายดังกล่าวประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นแต่เพียงการกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงประกาศรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่บทบังคับอันเป็นองค์ประกอบความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 โดยประกาศดังกล่าวได้มีการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบโดยทั่วกัน และจำเลยกับพวกได้ทราบแล้ว ซึ่งจำเลยไม่เคยโต้เถียง ทั้งไม่ฎีกาว่าท้องที่เกิดเหตุมิใช่เขตควบคุมการแปรรูปไม้ แสดงว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว หากจำเลยเห็นว่ายังไม่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ซึ่งจะใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ ก็เป็นข้อที่จำเลยจะต่อสู้ขึ้นมาให้เห็นเป็นประเด็นในศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการคัดสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้แม้จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี นั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5