แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ลูกจ้างกับจำเลยนายจ้าง ให้เรียกค่าครองชีพว่า ‘เงินสวัสดิการ’ ก็ไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง เมื่อถือว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างการที่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่ให้นำ ‘เงินสวัสดิการ’ มาคำนวณค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาและค่าจ้างในการทำงานในวันหยุด จึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 34,39 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดโดยคำนวณจากค่าจ้างซึ่งหมายถึงค่าจ้างทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ครั้งสุดท้ายได้รับเงินเดือนเดือนละ 4,054 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 834 บาท ระหว่างวันที่ 6 ถึง 20 มิถุนายน2525 โจทก์ทำงานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติรวม 4 วัน คือวันที่ 6 มิถุนายน 2525 ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์โจทก์ทำงาน 8 ชั่วโมง วันที่ 9 มิถุนายน 2525 โจทก์ทำงานล่วงเวลา 3 ชั่วโมง วันที่ 18 มิถุนายน 2525 โจทก์ทำงานล่วงเวลา 5 ชั่วโมง และวันที่ 20 มิถุนายน 2525 ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์โจทก์ทำงาน 8 ชั่วโมง แต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์โดยมิได้นำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 41 บาท 60 สตางค์ และค่าทำงานในวันหยุด 55 บาท 60 สตางค์รวมเป็นเงิน 97 บาท 20 สตางค์แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพตามฟ้อง จำเลยจ่ายเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ถูกต้องแล้วตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524 ค่าครองชีพเป็นเงินสวัสดิการ มีหลักเกณฑ์การจ่ายต่างกับค่าจ้างมีการยืดหยุ่นตามภาวะค่าครองชีพ ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างไม่ต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 97 บาท20 สตางค์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำเป็นรายเดือนและเป็นจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างจึงถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามบทนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ที่จำเลยอ้างว่าถ้าถือว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างแล้วจำเลยก็ไม่ต้องปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเลยนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่จะถือว่าค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง เพราะการปรับค่าจ้างก็เป็นการกระทำเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างนั่นเอง ส่วนที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างไม่มาทำงาน แต่ยังต้องจ่ายค่าครองชีพนั้นก็เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะวางระเบียบในการจ่ายค่าจ้างให้ตามที่เห็นสมควร แม้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยจะให้เรียกค่าครองชีพว่า “เงินสวัสดิการ” ก็ไม่เป็นข้อสำคัญที่จะทำให้ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง เมื่อถือว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง การที่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่ให้ “นำเงินสวัสดิการ” มาคำนวณค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาและค่าจ้างในการทำงานในวันหยุด ข้อตกลงดังกล่าวนี้ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 34, 39 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดโดยคำนวณจากค่าจ้างซึ่งหมายถึงค่าจ้างทั้งหมด เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้คำนวณค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดจากค่าจ้างเพียงบางส่วน ข้อตกลงนี้จึงไม่มีผลบังคับ
พิพากษายืน