คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความนับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่อาจยกความบกพร่องของหนังสือมอบอำนาจมายันให้เป็นที่เสียหายแก่ธนาคารจำเลยที่ 3 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ธ. บุตรโจทก์ขายที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 โอนขายต่อให้จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ทำจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในหนี้จำนอง และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่เช่นเดิม ศาลชอบที่จะพิพากษาให้ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ได้โดยไม่จำต้องให้เพิกถอนนิติกรรมทุกฉบับที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการเกินจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินลงวันที่ 14 กันยายน 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินลงวันที่ 14 กันยายน 2535 และลงวันที่ 12 ตุลาคม 2536 ระหว่างจำเลยที่ 2กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินลงวันที่ 10 มีนาคม 2537 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินลงวันที่ 10 มีนาคม 2537 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 23598 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น คืนโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 787,088 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากบ้านเลขที่621/5-6 ซอยวุฒาราม ถนนรื่นรมย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,000 บาท และชำระเงินวันละ 60 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะออกจากบ้านเลขที่ 621/5-6

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้กรอกข้อความมอบให้ผู้อื่นพร้อมโฉนดที่ดินไป จนเป็นเหตุให้นายธีรศาสตร์พรหมสอน บุตรของโจทก์นำหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความขายที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขายต่อให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ไม่รู้ถึงการกระทำเกินขอบอำนาจของนายธีรศาสตร์ จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางประภัสสร พรหมสอน ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า กรณีพิพาทสืบเนื่องมาจากมีการจดทะเบียนขายที่ดินและบ้านพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้ขายจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อ การไปทำนิติกรรมและจดทะเบียนขาย โจทก์มอบอำนาจให้นายธีรศาสตร์ พรหมสอน บุตรโจทก์ไปทำแทน โดยจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นมาแต่ตน และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการมอบอำนาจ มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ในเรื่องทำสัญญาเช่าแต่กลับมีการนำไปกรอกข้อความเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นการฝ่าฝืนเจตนาของโจทก์กล่าวอ้าง หรือโจทก์ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตรงตามรายการจดทะเบียนที่ปรากฏแต่โจทก์ไม่สะดวกที่จะไปทำนิติกรรมและจดทะเบียนด้วยตนเอง จึงมอบอำนาจให้นายธีรศาสตร์ผู้เป็นบุตรไปทำการแทนดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กล่าวอ้าง ในปัญหาข้อนี้เห็นควรค้นหาสาเหตุว่าเหตุใดโจทก์จึงจะขายบ้านที่ตน บุตรและหลานได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสุขสบายตลอดมา จำเลยที่ 1 เบิกความว่านายธีรศาสตร์ประสงค์จะได้เงินมาทำการค้าขาย จึงขอให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ธนาคารในวงเงิน 200,000 บาท แต่ธนาคารไม่ให้กู้ยืม จึงใช้วิธีขายที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2ในราคา 400,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินและบ้านจำนองธนาคารในวงเงิน400,000 บาท เอาเงินที่จำนองได้ชำระราคา ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1เป็นเรื่องที่โจทก์จะกู้ยืมเงินเพื่อให้บุตรใช้ทำทุนค้าขาย ครั้นกู้ยืมไม่ได้ก็เลยขายเหตุผลเช่นนี้ หากเป็นบ้านร้างไม่มีใครอยู่อาศัยหรือให้ผู้อื่นเช่า หรือเป็นที่ดินเปล่าก็ดูสมเหตุผลที่จะเปลี่ยนเจตนาไปได้ง่าย ๆ เช่นนั้น แต่ในกรณีนี้เป็นบ้านที่โจทก์บุตร และหลาน อยู่อาศัย เมื่อมาขายเสียเช่นนี้จะย้ายไปอยู่ที่ไหนกันก็ไม่ปรากฏดูไม่สมเหตุสมผลเสียเลยที่โจทก์จะคิดขาย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางประภัสสรว่า นายธีรศาสตร์ไม่ได้อยู่มา 9 ปี แล้ว ไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ตามคำเบิกความของนายธีรศาสตร์ก็ว่านายธีรศาสตร์ไม่ได้อยู่บ้านพิพาทมา 10 ปีเศษ แล้ว โดยไปรับจ้างทำงานต่างจังหวัด สาเหตุเนื่องจากภริยานายธีรศาสตร์มีเรื่องทะเลาะกับโจทก์ นายธีรศาสตร์จึงตั้งประณิธานว่า หากยังตั้งตัวไม่ได้จะไม่กลับมาบ้านอีก ข้อความจากคำพยาน 2 ปากนี้ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นความเท็จ จึงเห็นถึงอุปนิสัยของนายธีรศาสตร์ว่าเป็นคนที่มีทิฐิสูงไม่น่าเชื่อว่านายธีรศาสตร์จะหวนกลับมาขอเงินโจทก์ไปทำทุนค้าขาย ทางด้านโจทก์ซึ่งเป็นมารดาผู้สูงอายุก็เช่นกัน ในเมื่อนายธีรศาสตร์ทอดทิ้งไปถึง 10 ปี ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีใจยินดีให้เงินนายธีรศาสตร์ถึง 200,000 บาท หรือแม้ให้ยืมก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เมื่อมองในแง่การหาแหล่งกู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 อ้างว่านายธีรศาสตร์ขอให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจำนองธนาคาร แต่เมื่อตรวจรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินสำเนาเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2521 โจทก์จำนองที่ดินแปลงนี้5 ครั้ง ผู้รับจำนองมีทั้งบุคคลธรรมดาและธนาคาร ซึ่งโดยปกติทราบกันดีว่าการจำนองที่ดินจะเป็นเรื่องกู้ยืมเงินเสียเป็นส่วนมาก น่าเชื่อว่าการที่โจทก์จำนองที่ดิน 5 ครั้ง เป็นเรื่องประกันการกู้ยืมเงิน แสดงว่าโจทก์มีความสามารถเพียงพอที่จะหาแหล่งเงินกู้ได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้นายธีรศาสตร์ไปไหว้วานจำเลยที่ 1และโจทก์เพิ่งไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ก่อนจดทะเบียนขายให้จำเลยที่ 2 เพียงประมาณ 4 เดือน น่าเชื่อว่าโจทก์หมดความเดือดร้อนเรื่องเงินจึงสามารถไถ่ถอนจำนองได้ ไม่น่าที่โจทก์จะมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง เมื่อพิจารณาถึงราคาที่จดทะเบียนขายให้จำเลยที่ 2 ในราคา 200,000 บาท แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะเบิกความว่าราคาที่ซื้อขายจริง 400,000 บาท ก็ยังไม่มีเหตุผลว่าโจทก์จะยินดีขายในราคานั้น เนื่องจากมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทมีราคาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของราคาที่อ้างว่าซื้อขาย ทั้งนี้ ปรากฏจากคำเบิกความของนายประกิต ดีประเสริฐดำรง พนักงานของจำเลยที่ 3 ว่าในการที่จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม2537 ห่างจากการจดทะเบียนขายครั้งก่อนเพียง 1 ปี 6 เดือน พยานไปประเมินราคา เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาตามท้องตลาด 900,000 บาทเศษ นอกจากนี้ยังปรากฏว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับซื้อที่ดินและบ้านพิพาทแล้วไม่ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์เลย ดูเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่น่าเชื่อว่าผู้ซื้อจะผ่อนผันให้ผู้ขายเนิ่นนานถึงเพียงนั้น ข้อที่พิเคราะห์มาโดยลำดับนี้ จะเห็นว่าสอดคล้องกับคำเบิกความของนางประภัสสรพยานโจทก์ที่ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการจดทะเบียนเช่า และสอดคล้องกับคำเบิกความของนายธีรศาสตร์พยานโจทก์ว่าพยานไม่ได้อยู่ที่บ้านพิพาทมานาน 10 ปีเศษแล้ว โดยพยานไปรับจ้างทำงานต่างจังหวัด เหตุที่พยานเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจ เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กไปหาพยานและจ้างพยานเป็นเงิน 50,000 บาท จำนวนค่าจ้างที่กล่าวนี้ แม้ออกจะเป็นค่าจ้างที่แพงไปสักหน่อยแต่ก็คุ้มค่าเนื่องจากนายธีรศาสตร์เป็นบุตรโจทก์ การที่บุตรรับมอบอำนาจจากมารดาให้ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านที่มีราคาแพง เป็นการสมเหตุสมผล สามารถพรางตาเจ้าพนักงานที่ดินได้เป็นอันดี แม้จะเสียค่าจ้างไป 50,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ยังเหลือเงินอีก 350,000 บาท และจำเลยที่ 2 ก็ยังได้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่มีราคาไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของวงเงินที่ติดจำนองพยานโจทก์มีเหตุผลน่ารับฟังยิ่งกว่าพยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทราบเรื่องดีอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ แต่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่อาจยกความบกพร่องของหนังสือมอบอำนาจมายันให้เป็นที่เสียหายแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตได้ และศาลฎีกาเห็นว่าถึงกระนั้นก็ดี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำการครั้งนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในหนี้จำนอง และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ยังจะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 อยู่เช่นเดิมข้อที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมทุกฉบับที่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่าเกินจำเป็นหากจะพิพากษาให้มีผลว่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทกลับเป็นของโจทก์ ก็น่าจะเพียงพอและเข้าใจง่ายในทางปฏิบัติ สำหรับเรื่องการเช่านั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 และโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธ เพียงแต่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเช่า จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 และโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว สัญญาเช่าจึงยุติ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ทะเบียนให้กรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทกลับคืนเป็นของโจทก์ แต่ให้จำนองที่จำเลยที่ 3 มีอยู่เฉพาะเหนือที่ดินและบ้านพิพาทตกติดไปกับที่ดินและบ้านพิพาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงินที่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยที่ 3 เนื่องแต่ภาระจากหนี้จำนองให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากบ้านพิพาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่า 9,000 บาท และค่าเช่านับแต่วันฟ้องเดือนละ 1,800 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะออกจากบ้านพิพาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share