แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ 5 ในการนำพยานมาสืบเกือบ 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถนำพยานมาสืบได้โดยอ้างเหตุเดิมๆ คือ พยานติดธุระบ้าง ย้ายไปรับราชการที่อื่นบ้าง ส่งหมายเรียกให้ไม่ได้บ้างตลอดมา พฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 5 จึงชอบแล้ว
คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ 5 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 จึงไม่ใช่การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 7/62 ออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้แก่จำเลยที่ 5 โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมค่าภาษีและค่าใช้จ่ายต่างๆ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 4 ที่ 7 และที่ 10 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันรื้อถอนบ้านเลขที่ 7/62 ออกไปจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ห้ามจำเลยทั้งสิบเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไปให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 ร่วมกันรื้อถอนบ้านเลขที่ 7/62 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ห้ามจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 พร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 และที่ 10 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า บ้านเลขที่ 7/62 หมู่ที่ 9 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรีตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เมื่อประมาณปี 2514 จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 5 ซื้อบ้านเลขที่ 7/62 จากนายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาปี 2516 จำเลยที่ 9 ยกให้แก่จำเลยที่ 5 โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 5 ได้ครอบครองบ้านหลังดังกล่าวมากว่า 10 ปีแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 5 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 นัดแรกวันที่ 3 ธันวาคม 2539 วันดังกล่าวสืบพยานคือตัวจำเลยที่ 6 ได้ 1 ปาก ทนายจำเลยที่ 5 แถลงขอเลื่อนไปสืบพยานคือตัวจำเลยที่ 5 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 5 แถลงว่าจำเลยที่ 5 ติอประชุมขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 5 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 โดยได้กำชับว่าให้เตรียมพยานมาให้พร้อมและจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก ถึงวันนัดสืบพยานคือตัวจำเลยที่ 5 ได้ 1 ปากทนายจำเลยที่ 5 แถลงติดใจสืบพยานอีก 5 ปาก ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 5 วันที่ 7 กรกฎาคม 2540 พร้อมกำชับทนายจำเลยที่ 5 ให้เตรียมพยานมาให้พร้อม แต่ในวันนัดต่อๆ มาคือวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 และวันที่ 11 กันยายน 2540 ทนายจำเลยที่ 5 แถลงว่าขอหมายเรียกพยานไว้ 3 ปากแต่พยานไม่สามารถมาศาลได้ขอเลื่อนคดี ในวันนัดทั้งสองวันดังกล่าวศาลได้กำชับทนายจำเลยที่ 5 ให้นำพยานมาศาลให้ได้ ในวันนัดวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ทนายจำเลยที่ 5 แถลงขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดใจสืบพยาน 4 ปาก แต่ส่งหมายให้พยานไม่ได้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 นัดแรกวันที่ 3 ธันวาคม 2539 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 5 นำพยานมาสืบได้เพียง 2 ปาก เหลือพยานอีก 3 ปาก แต่ก็ไม่สามารถนำมาสืบได้ และในวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ทนายจำเลยที่ 5 กลับแถลงว่าติดใจสืบพยานอีก 4 ปาก แต่ก็ไม่สามารถส่งหมายเรียกแก่พยานได้ ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ 5 ในการนำพยานมาสืบเกือบ 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถนำพยานมาสืบได้โดยอ้างเหตุเดิมๆ คือพยานติดธุระบ้าง ย้ายไปรับราชการที่อื่นบ้าง ส่งหมายเรียกให้ไม่ได้บ้างตลอดมา พฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 5 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า โจทก์มอบอำนาจให้พันตำรวจโทชูศักดิ์ โล้กรุด ฟ้องคดีนี้หรือไม่ และฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4756/2534 หมายเลขแดงที่ 8273/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทชูศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.21 ว่า โจทก์มอบอำนาจให้พันตำรวจโทชูศักดิ์เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือปลอม แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีพยานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มอบให้พันตำรวจโทชูศักดิ์ดำเนินคดีแทน ส่วนปัญหาว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4756/2534 หมายเลขแดงที่ 8273/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4756/2534 หมายเลขแดงที่ 8273/2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ…
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นโดยโจทก์และจำเลยที่ 5 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี โจทก์ให้นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ และหม่อมหลวงคุทัณฑ์ สนิทวงศ์ เช่ามีกำหนดเวลา 10 ปี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 บ้านเลขที่ 7/62 เป็นของนายไชยวัฒน์ปลูกในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 5 ซื้อบ้านหลังดังกล่าวจากนายไชยวัฒน์ต่อมาจำเลยที่ 9 ยกให้แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 จึงอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าดังกล่าว สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนายไชยวัฒน์และหม่อมหลวงคุทัณฑ์ครบกำหนดเมื่อปี 2522 โจทก์มีนางสาวกรรณิการ์ โล้กรุด เบิกความเป็นพยานว่า หลังจากนั้นจำเลยทั้งสิบได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ต่อจากนายไชยวัฒน์และหม่อมหลวงคุทัณฑ์แต่ตามต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.28 ระบุชื่อจำเลยที่ 9 เป็นผู้ชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 9 ผู้เดียวเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อจากนายไชยวัฒน์และหม่อมหลวงคุทัณฑ์จำเลยอื่นไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาท นางสาวกรรณิการ์เบิกความว่า ให้เช่ามีกำหนดเวลา 10 ปี สอดคล้องกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.28 ว่าในวันที่ 5 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 9 ได้ชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าไม่ได้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 จึงไม่ใช่ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยที่ 5 จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 5 รับว่าเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 7/62 โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 5 รื้อบ้านดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 รื้อถอนบ้านเลขที่ 7/62 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 69524 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ