คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่า ฟ้องต้องบรรยายไว้ด้วยว่าได้มีการสอบสวนแล้ว เมื่อคดีปรากฏว่า ก่อนฟ้องได้มีการสอบสวนแล้ว ก็เป็นอันใช้ได้
ฉ้อโกงทรัพย์ของการไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งขึ้นอยู่แก่กรมโยธาเทศบาลครั้งนั้นยังเป็นกรมโยธาธิการ) อธิบดีแห่งกรมดังกล่าวย่อมร้องทุกข์ได้
คำร้องทุกข์ของอธิบดีกรมโยธาธิการ ซึ่งมีข้อความว่า ‘…..ได้ทราบจากเจ้าพนักงานสอบสวนว่า คดีนายเทื้อมกับพวกซึ่งต้องหาว่า ทุจริตต่อหน้าที่และปลอมหนังสือนั้นได้มีข้อหาเพิ่มเติมอีกว่า ทำการฉ้อโกงทรัพย์ด้วยฉันในฐานะเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ฉันขอมอบคดีฐานฉ้อโกงให้ตำรวจและอัยการดำเนินคดีต่อไป (ลงชื่อ ล. บูรกัมโกวิท)’ เป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยมาตรา 123 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ปลอมหนังสือ และฉ้อโกง จำเลยปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2 มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304 จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

1. จำเลยอ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ได้มีการสอบสวนความผิดของจำเลย ไว้ก่อนแล้ว

เห็นว่า ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่า ฟ้องจะต้องบรรยายไว้ด้วยว่า ได้มีการสอบสวนแล้ว ทั้งคดีนี้ปรากฏว่าก่อนฟ้อง ได้มีการสอบสวนแล้ว

2. จำเลยอ้างว่า ในคดีฉ้อโกง ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์

เห็นว่า คดีนี้จำเลยทำการฉ้อโกงทรัพย์ของการไฟฟ้าหลวงสามเสนซึ่งขึ้นอยู่แก่กรมโยธาเทศบาล (ครั้งนั้นยังเป็นกรมโยธาธิการ) อธิบดีแห่งกรมดังกล่าว โดย พ.ต.ล้อม บูรณกรรมโกวิท ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ทำใบมอบคดีให้ฟ้องร้องในฐานนี้ มีข้อความว่า “27 เมษายน 2487 ฉัน พันตรีล้อม บูรณกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาธิการได้ทราบจากเจ้าพนักงานสอบสวนว่า คดีนายเทื้อม กับพวก ซึ่งต้องหาว่าทุจริตต่อหน้าที่และปลอมหนังสือนั้น ได้มีข้อหาเพิ่มเติมอีกว่าทำการฉ้อโกงทรัพย์อีกด้วย ฉันในฐานะเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการ จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ฉันขอมอบคดีฐานฉ้อโกงให้ตำรวจและอัยการดำเนินคดีต่อไป (ลงชื่อ ล. บูรณกรรมโกวิท)” ใบมอบคดีหรือคำร้องทุกข์นี้ มีข้อความตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถือว่า เป็นคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share