คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า ” (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า ” (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 326, 328, 332 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5), 15 ขอให้บวกโทษ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน เอเอสทีวีผู้จัดการและอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาคำพิพากษาแต่บางส่วนพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือเดลินิวส์ หรือมติชน เอเอสทีวีผู้จัดการ และอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด สำหรับข้อหาและคำขออื่นของจำเลยที่ 1 ให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (5) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 60,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอจดทะเบียนเว็บไซต์ www.manager.co.th กับบริษัทที.เอช.นิค จำกัด ผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนม เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้พัฒนาบริหารและจัดทำเว็บไซต์ www.manager.co.th โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ล้มละลาย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ในที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีผู้นำถ้อยคำดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยถอดคำพูดนำไปลงพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.manager.co.th
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับสิทธิในการบริหารและจัดทำเว็บไซต์ www.manager.co.th จากบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้สิทธิ โดยจำเลยที่ 2 ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเว็บไซต์ ทั้งต้องเป็นผู้ลงทุนทุกอย่าง รวมถึงอุปกรณ์ กำลังคนและสถานที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กำหนดไว้ให้เว็บไซต์ดังกล่าวได้รับความนิยมสูงสุด ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2544 มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิในเว็บไซต์ www.manager.co.th ในการดูแลและบริหารงานด้านบุคลากร จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ พัฒนาระบบงานทุกด้าน ตลอดจนดูแลเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารและมีสิทธิในการหารายได้จากเว็บไซต์ ส่วนบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีสิทธินำข้อมูล เนื้อหาและภาพไปใช้ในกิจการของตนได้โดยจำเลยที่ 2 ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2 ได้รับสิทธิในเว็บไซต์ www.manager.co.th รวม 30 ปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544 และตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 4 มกราคม 2548 เป็นความตกลงระหว่าง บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 2 โดยบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สิทธิจำเลยที่ 2 นำเนื้อหาทุกประเภทในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันไปเผยแพร่ในสื่อทุกประเภทที่จำเลยที่ 2 ได้จัดทำขึ้นหรือสื่อใดที่จำเลยที่ 2 เห็นสมควรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในการใช้ชื่อ ” ผู้จัดการ ” หรือ ” MANAGER ” เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2544 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดว่า นับแต่ได้รับอนุญาตจากบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเด็ดขาดในการดำเนินงานทุกด้านของเว็บไซต์ www.manager.co.th ซึ่งย่อมรวมถึงการตัดสินใจนำข้อมูลใดไปเผยแพร่หรือไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลใดในเว็บไซต์ด้วย สิทธิดังกล่าวนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เห็นได้จากความตกลงในย่อหน้าสุดท้ายของบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตกลงกันในการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นที่นิยมและเพิ่มโอกาสให้ชื่อบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และเว็บไซต์ www.manager.co.th ได้รับความนิยมสูงสุดแล้ว บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที และดังเห็นได้จากสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2544 ข้อ 1 ที่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถนำข้อมูล เนื้อหาและรูปภาพในเว็บไซต์ที่จำเลยที่ 2 ดูแลและบริหารงานไปใช้ในกิจการของตนได้โดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจคิดมูลค่าได้ และตามข้อ 2 ที่กำหนดการให้ใช้สิทธิโดยจำกัดระยะเวลาที่ 30 ปี หากจำเลยที่ 2 จะต่ออายุสัญญาต้องยื่นขอต่อบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนสัญญาสิ้นสุด ตามความตกลงนี้เป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิเช่นนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ลงทุนทรัพยากรในทุกด้านและย่อมไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือกับบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รับรองการให้สิทธิและใช้สิทธิในเว็บไซต์ไว้เป็นหลักฐานผูกพันกันเช่นนั้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาที่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 ในการบริหารและจัดทำเว็บไซต์ www.manager.co.th สิ้นผลเมื่อบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตกเป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ นับแต่นั้นจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้บริหารดูแลเว็บไซต์อีกต่อไป จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น เห็นว่า แม้บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต้องคำพิพากษาให้ตกเป็นบุคคลล้มละลายก็เป็นเพียงทำให้การจัดการทรัพย์สินตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 62 ผลแห่งการล้มละลายหาได้ทำให้สัญญาที่บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทำกับจำเลยที่ 2 เป็นอันสิ้นผลหรือระงับไปดังอ้างไม่ ดังเห็นได้จากบทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้มีอยู่แก่ผู้อื่นตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง หากสิทธิตามสัญญานั้นมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ข้อสัญญาและบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ได้สิทธิในการบริหารและจัดการเว็บไซต์ www.manager.co.th จึงหาสิ้นผลหรือระงับไปเพราะเหตุบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ใบเสร็จรับเงินชำระค่าบริการโดเมนเนมที่ผู้ให้บริการออกให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกล่าสุดเมื่อปี 2547 ก่อนเกิดเหตุนานหลายปี และหลังจากปี 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระค่าบริการอีก คงมีแต่บริษัทเอธนิค เอิร์ธ ด็อทคอม โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชำระค่าบริการแก่บริษัทที.เอช.นิค จำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ www.manager.co.th อีกนั้น เห็นว่า แม้ตามใบเสร็จรับเงินของบริษัทที.เอช.นิค จำกัด ผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมจะปรากฏความดังจำเลยที่ 2 ฎีกา และบริษัทเอธนิค เอิร์ธ ด็อทคอม โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชำระค่าบริการแก่บริษัทที.เอช.นิค จำกัด เป็นค่าธรรมเนียมให้บริการโดเมนเนมในชื่อ www.manager.co.th ระหว่างวันที่ 17 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2554 ตามใบเสร็จลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2556 ตามใบเสร็จลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ก็ตาม และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การตรวจเครื่องแม่ข่ายควบคุมเว็บไซต์ www.thaiday.com และ www.manager.co.th เป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2556 หลังเกิดเหตุเป็นเวลานานนั้น ยิ่งเป็นเหตุผลแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับเว็บไซต์ www.manager.co.th ว่ายังคงมีสืบเนื่องตั้งแต่จำเลยที่ 2 ได้รับสิทธิต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงเมื่อปี 2556 กรณีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันระหว่างจำเลยที่ 2 กับเว็บไซต์ www.manager.co.th ยังปรากฏตามข้อมูลรับสมัครงานที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.manager.co.th ได้ความเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ชำระค่าบริการโดเมนเนม เว็บไซต์ www.manager.co.th ด้วยตนเองจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ www.manager.co.th อีกดังที่ฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารจัดการและมีสิทธิเด็ดขาดในการดำเนินงานทุกด้านของเว็บไซต์ www.manager.co.th โดยมีอำนาจตัดสินใจนำเสนอข้อมูลใดไปเผยแพร่หรือไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลใดในเว็บไซต์ www.manager.co.th เมื่อเว็บไซต์ดังกล่าวเผยแพร่ข้อมูลถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ในที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ให้บริการตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ปรากฏความว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 10 ก หน้า 24 ซึ่งความในมาตรา 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า ” (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า ” (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ดังวินิจฉัย การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 สถานเดียว ลงโทษปรับ 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share