คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คดีสำหรับข้อหานี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องนั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การจับและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอน เพราะการจับเป็นวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำผิด ส่วนการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่น ตามบทบัญญัติแห่งป.วิ.อ. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ และป.วิ.อ.มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ไม่ปรากฎว่าคดีนี้ไม่ได้มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบอย่างไร ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๗,๘๓,๙๑
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา๒๗๗วรรคสาม ๓๑๗วรรคสาม, ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกรทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๙๑ ขณะกระทำผิดจำเลยซึ่งอายุ ๑๕ ปีเศษ จำเลยที่๒อายุ ๑๔ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประะมวลกฎหมายอาญามาตรา๗๕ ประกอบด้วยมาตรา๕๓ แล้ว ฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปีไปเสียจากบิดามารดาให้ลงโทษจำคุกคนละ ๒ ปี ๖ เดือน ฐานกระทำชำเราให้ลงโทษจำคุกคนละ ๒๕ ปี รวมให้ลงโทษจำคุกคนละ ๒๗ ปี ๖ เดือน คำรับของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกคนละ ๑๘ ปี ๔ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค๙ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๗วรรคสามประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑ ปี ๘ เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค๙พิพากษายืนคดีสำหรับข้อหานี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๒๑๘วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องนั้นเป็นฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องนั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค๙ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการจับจำเลยทั้งสองไม่ชอบเพราะไม่มีหมายจับและเป็นกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าการจับและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอนกัน เพราะการจับเป็นวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำผิด ส่วนการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้ระทำผิดมาฟ้องลงโทษและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๑๒๐บัญญัติว่าห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ไม่ปรากฏว่าคดีนี้ไม่ได้มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบอย่างไร ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

นายนิพันธ์ ช่วยสกุล ผู้ตวรจร่างฯ
ร.ท.นิตินาถ บุญมา ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share