คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2773/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องว่า ขณะฟ้องคดีนี้อธิบดีกรมศิลปากรยังมีตัวดำรงตำแหน่งปฏิบัติราชการได้ พ. รองอธิบดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องแทนกรมศิลปากร ดังนี้ ปัญหาว่ากรมศิลปากรมีรองอธิบดีกี่คนและปลัดกระทรวงได้แต่งตั้งให้ พ. รองอธิบดีรักษาการแทนตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2512 หรือไม่ จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องขณะที่อธิบดีกรมศิลปากรไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ พ. รองอธิบดีกรมศิลปากรรักษาราชการแทนอธิบดีจึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ได้ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 42 วรรคสอง
สัญญาค้ำประกันมีการขีดฆ่าข้อความบางแห่งที่พิมพ์เกินไว้ ซึ่งไม่ใช่ข้อความที่เป็นสารสำคัญ แม้ผู้ขีดฆ่าจะไม่ได้ลงชื่อไว้ก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญาค้ำประกันรับฟังไม่ได้ และข้อความในสัญญาค้ำประกันที่ว่า ถ้า อ. (ลูกหนี้) ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมชำระเงินที่ อ. ยังค้างชำระอยู่ให้โจทก์จนครบถ้วนทันทีไม่ว่าจะมีทางเรียกให้ อ. ชำระหนี้ได้หรือไม่ก็ตามนั้น ไม่ขัดต่อกฎหมายสัญญาค้ำประกันไม่เป็นโมฆะและบังคับได้โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันได้เมื่อนางอำไพผิดนัดไม่ชำระ
สัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยเข้าค้ำประกัน อ. ต่อโจทก์มีข้อความว่าสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อเมื่อกระทรวงการคลังเห็นชอบแล้วเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนอันเป็นข้อสารสำคัญ ส่วนสัญญาข้อ 2 ที่ อ. จะเริ่มผ่อนชำระเงินตั้งแต่เดือนมกราคม 2516 เป็นต้นไปนั้น เป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยคาดว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติมาก่อน เมื่อปรากฏว่ากระทรวงการคลังตอบอนุมัติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2516 สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติมิใช่พฤติการณ์ที่โจทก์ผ่อนเวลาให้แก่ อ.
สัญญารับสภาพหนี้ อ. ยอมชำระหนี้แก่โจทก์โดยตกลงจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน ๆ ละ 500 บาท ทุกวันที่ 10 ของเดือนโดยไม่แยกจำนวนหนี้เป็นราย ๆ ออกต่างหากจากกันดังนี้ เมื่อ อ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรกตลอดมาถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดแก่โจทก์จำเลยผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ทั้งหมดที่ อ. ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางอำไพทำสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินแก่โจทก์โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนภายในวันที่ 10 ของเดือน จนกว่าจะครบจำเลยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ นางอำไพผิดนัดไม่ชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ยอมชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ขณะฟ้องคดีนี้อธิบดีกรมศิลปากรยังดำรงตำแหน่งปฏิบัติราชการอยู่ นายพินิจรองอธิบดีไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะ โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นางอำไพ จำเลยจึงพ้นความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่านายพินิจมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์หรือไม่ โจทก์มีพยานคือ นายพินิจ นางสมใจ และนายเอกชัยเบิกความว่านายพินิจเป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2519 อธิบดีกรมศิลปากรไปต่างประเทศ นายพนิจปฏิบัติราชการแทน พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นข้าราชการจึงมีน้ำหนักเป็นที่เชื่อได้ ส่วนจำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้างเมื่อปรากฏว่าอธิบดีกรมศิลปากรไปต่างประเทศ ถือได้ว่าไม่อาจปฏิบัติราชการได้ นายพินิจปฏิบัติราชการแทนซึ่งเป็นการรักษาราชการแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 318 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 42 วรรคสอง คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2519 ขณะที่อธิบดีกรมศิลปากรไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้นายพินิจรองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรจึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่จำเลยฎีกาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ถ้ามีรองอธิบดีหลายคนให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน แต่โจทก์ไม่นำสืบว่ากรมศิลปากรมีรองอธิบดีคนเดียวจึงฟังไม่ได้ว่านายพินิจมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวจำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า ขณะฟ้องคดีนี้อธิบดีกรมศิลปากรยังมีตัวดำรงตำแหน่งปฏิบัติราชการได้ นายพินิจรองอธิบดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องเท่านั้น ดังนั้นปัญหาว่ามีรองอธิบดีกี่คนและปลัดกระทรวงได้แต่งตั้งให้นายพินิจรองอธิบดีรักษาราชการแทนหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบ

ปัญหาต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า นางอำไพทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อโจทก์โดยสามีไม่ให้ความยินยอม จึงเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การว่า นางอำไพทำสัญญารับสภาพหนี้โดยนายเสรีไม่ได้ให้ความยินยอมนายเสรีจะบอกล้างต่อไปซึ่งจำเลยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเมื่อนายเสรีบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว แต่ทางพิจารณาจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติม จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

สำหรับปัญหาต่อไปว่า สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นางอำไพหรือไม่ และจำเลยจะผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เฉพาะหนี้ที่ถึงกำหนดได้หรือไม่ โจทก์มีพยานคือ นายพินิจ นางสมใจและนายเอกชัยเบิกความว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันสัญญารับสภาพหนี้ที่นางอำไพทำไว้กับโจทก์ โจทก์เสนอเรื่องผ่านกระทรวงศึกษาธิการไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังมีหนังสืออนุมัติและโจทก์มีเอกสารมาสืบคือ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันนางอำไพซึ่งทำสัญญารับสภาพหนี้กับโจทก์ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2515 เป็นเงิน 110,939.20 บาท กำหนดชำระหนี้ภายใน 118 ปี 6 เดือน นับแต่เดือนมกราคม 2516 จำเลยลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน สำเนาหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการถึงกระทรวงการคลังขออนุมัติให้นางอำไพผ่อนชำระหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.4 กล่าวถึงจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการรับสภาพหนี้ของนางอำไพด้วย หนังสือกระทรวงการคลังถึงกระทรวงศึกษาธิการตามเอกสารหมาย จ.5 อนุมัติตามข้อตกลงที่นางอำไพขอผ่อนชำระตามสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาค้ำประกันของจำเลย และหนังสือให้นางอำไพนำเงินงวดแรก 500 บาท กับงวดเดือนกันยายนและตุลาคม 2516 ไปชำระตามเอกสารหมาย จ.8, จ.9 พยานโจทก์เชื่อมโยงกันสมเหตุผลเป็นที่เชื่อได้ ส่วนจำเลยมีพยานคือตัวจำเลยเพียงคนเดียวเบิกความว่า นายเสรีเอาสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความไปบอกว่า นายเสรีจะยืมเงินทางราชการ 10,000 บาท ขอให้ลงชื่อค้ำประกันให้ จำเลยจึงลงชื่อค้ำประกันซึ่งขัดกับคำให้การที่ว่านางอำไพขอร้องให้จำเลยค้ำประกันนางอำไพเพื่อกู้เงินโจทก์ 10,000 บาท จำเลยจึงลงชื่อในสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความ พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 โดยรู้ว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ที่นางอำไพทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์ และที่สัญญาค้ำประกันมีการขีดฆ่าข้อความบางแห่งในแบบพิมพ์ก็เป็นข้อความที่พิมพ์แล้วเกินไว้เมื่อไม่ใช้ก็ขีดฆ่าออกไม่ใช่ข้อความสำคัญ แม้มีผู้ขีดฆ่าจะไม่ได้ลงชื่อไว้ก็ไม่เป็นเหตุที่สัญญาค้ำประกันรับฟังไม่ได้ ส่วนสัญญาค้ำประกันข้อ2 ที่มีข้อความว่าถ้านางอำไพผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมชำระเงินที่นางอำไพยังค้างชำระอยู่ให้แก่โจทก์จนครบถ้วนทันทีไม่ว่าจะมีทางเรียกให้นางอำไพชำระหนี้ได้หรือไม่ก็ตามนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญาค้ำประกันไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับได้ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันเมื่อนางอำไพผิดนัดไม่ชำระ และตามสัญญารับสภาพหนี้ลงวันที่ สิงหาคม 2515 ข้อ 5 มีข้อความว่า สัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อกระทรวงการคลังเห็นชอบด้วยแล้ว เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนเป็นข้อสาระสำคัญในสัญญาดังกล่าว สัญญาข้อ 2 ที่นางอำไพจะเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2516 เป็นต้นไป คงเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยคาดว่า กระทรวงการคลังจะอนุมัติมาก่อน เมื่อปรากฏว่ากระทรวงการคลังมีหนังสือลงวันที่ 20 กันยายน 2516 ตอบอนุมัติสัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผ่อนเวลาให้แก่นางอำไพ สำหรับการที่นางอำไพทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้แก่โจกท์โดยตกลงจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาท ทุกวันที่10 ของเดือนโดยไม่แยกจำนวนหนี้เป็นราย ๆ ออกต่างจากกันนั้น เมื่อนางอำไพไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรกตลอดมาถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งจะต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดแก่โจทก์ ฉะนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ทั้งหมดที่นางอำไพต้องรับผิดดังกล่าวต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share