คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6502/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผท 6565 ชลบุรีไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสายอ่างศิลามุ่งหน้าไปตลาดอ่างศิลาซึ่งเป็นถนนมีช่องเดินรถ 2 ช่อง แล่นสวนทางกันคนละฝั่ง 1 ช่อง เมื่อถึงหน้าร้านนุชคอหมูย่าง จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวซ้ายไปจอดที่ร้านดังกล่าวและเกิดเฉี่ยวชนกันกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาทางด้านซ้าย รถของโจทก์เสียหลักไปกระแทกกับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 68, 148, 157 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3) (4), 68, 148, 157 และ ป.อ. มาตรา 390 แม้โจทก์ในคดีนี้จะเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ตาม คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกและกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าววินิจฉัยด้วยว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย ก็ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่รับฟังว่าพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์มีส่วนประมาทนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นๆ รวมทั้งค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใดไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,090,953 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,892,120 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผท 6565 ชลบุรี ไว้กับจำเลยที่ 2 ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสายอ่างศิลามุ่งหน้าไปตลาดอ่างศิลา ซึ่งเป็นถนนมีช่องเดินรถ 2 ช่อง แล่นสวนทางกันคนละฝั่ง 1 ช่อง เมื่อถึงหน้าร้าน จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวซ้ายไปจอดที่ร้านและเกิดเฉี่ยวชนกันกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาทางด้านซ้าย รถของโจทก์เสียหลักไปกระแทกกับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 68, 148 และ 157 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (3) (4), 68, 148 และ 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลแขวงชลบุรีมีคำพิพากษานั้น โจทก์ในคดีนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวและในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลในคดีนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงแล้วว่า โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถกระบะคันสีส้มด้านซ้าย อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทางบก พ.ศ.2522 และการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแขวงชลบุรีซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ศาลในคดีนี้ต้องรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวนั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยว่า กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แม้โจทก์ในคดีนี้จะเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ตาม คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ การที่ศาลแขวงชลบุรีวินิจฉัยด้วยว่า โจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วยก็ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในคดีแพ่งว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เนื่องจากคดีอาญาอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลแขวงชลบุรีซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นพับ ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า คดีอาญามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เท่านั้น ดังนั้นที่ศาลแขวงชลบุรีวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้กระทำโดยประมาทด้วย จึงมิใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งไม่อาจนำข้อเท็จจริงในคดีมาผูกพันในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่รับฟังว่า พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์มีส่วนประมาทนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นๆ รวมทั้งค่าเสียหายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ รวมทั้งค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้วนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็น
สมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใด ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยให้ใช้ค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด
ค่าทนายความรวม 30,000 บาท

Share