คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นกรรมหนึ่งต่างหากและขาดตอนไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกระเป๋าถือเพื่อโทรศัพท์ติดต่อสามี จำเลยแย่งกระเป๋าถือแล้วเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 9,000 บาท ในกระเป๋าถือไป และทิ้งกระเป๋าถือไว้ใต้ถุนบ้าน พฤติการณ์แห่งคดีอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายใช้โทรศัพท์ติดต่อกับสามี คดีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตในการเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักหรือชิงโทรศัพท์มือถือ ส่วนเงิน 9,000 บาท เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ จำเลยจึงคืนให้ 8,000 บาท ส่วนอีก 1,000 บาท จำเลยไม่ยอมคืนจนกว่าผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่มีสิทธิเอาเงินไปและไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยเอาเงินไปเพียงเพราะโกรธผู้เสียหาย กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จำเลยจึงมีเจตนาทุจริตอันเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักเงินดังกล่าวแล้ว แต่การที่จำเลยดึงกระเป๋าถือโดยยื้อแย่งกันจนสายกระเป๋าขาดติดมือผู้เสียหายโดยไม่ได้ผลักผู้เสียหาย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การกระทำเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองรวมอยู่ในข้อหาชิงทรัพย์ แม้โจทก์ฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์มาศาลย่อมลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 339, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อโจทก์สืบพยานได้ 2 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 339 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 2 เดือน ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 10 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 1 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยรู้จักคุ้นเคยกับญาติของผู้เสียหาย โดยจำเลยชอบพอนางสาวจริยา ญาติของผู้เสียหาย และเหตุคดีนี้เริ่มต้นจากการที่จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายที่บอกให้จำเลยออกไปจากบ้านของนางอุไร ป้าของผู้เสียหายและเป็นมารดาของนางสาวจริยา จำเลยจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายกำลังจะเปิดกระเป๋าถือเพื่อจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ติดต่อไปยังสามี จำเลยก็ยื้อแย่งกระเป๋าถือจากผู้เสียหายจนกระทั่งสายกระเป๋าขาดแล้วนำลงไปจากบ้าน โดยหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงินจำนวน 9,000 บาท ของผู้เสียหายไปและทิ้งกระเป๋าถือที่ใต้ถุนบ้าน ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอบางคนทีในคืนเกิดเหตุ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายจึงได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่คืน โดยจำเลยมอบให้นางปัทมา นำไปมอบให้นางอุไร จากนั้นอีกหนึ่งวัน จำเลยจึงคืนเงินจำนวน 8,000 บาท มอบผ่านนางสาวจริยา ส่วนเงินที่ยังขาดอยู่ 1,000 บาท นางสาวจริยาแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า จำเลยจะคืนให้เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จะรับฟังว่าจำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเจตนาแห่งการกระทำเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยลุแก่โทสะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้ว ต่อมาจำเลยได้แย่งกระเป๋าถือของผู้เสียหาย จากนั้นได้เอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและเงินจำนวน 9,000 บาท ซึ่งบรรจุอยู่ในกระเป๋าถือดังกล่าวไป ส่วนกระเป๋าถือของผู้เสียหาย จำเลยทิ้งไว้ใต้ถุนบ้าน สำหรับการเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปนั้น โดยพฤติการณ์แห่งคดีอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับสามีของผู้เสียหาย คดีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตในการเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง แต่สำหรับเงินจำนวน 9,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งถูกจำเลยเอาไป และต่อมาเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยจึงคืนให้จำนวน 8,000 บาท ส่วนอีก 1,000 บาท จำเลยไม่ยอมคืนให้จนกว่าผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ทั้งๆ ที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะเอาเงินจำนวน 9,000 บาท ของผู้เสียหายไป และไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยเอาเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายไปเพียงเพราะโกรธผู้เสียหาย กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จำเลยจึงมีเจตนาทุจริต และจำเลยไม่อาจอ้างความมึนเมามาปฏิเสธการกระทำความผิดของตนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องในข้อหาชิงทรัพย์มาทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเฉพาะทรัพย์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนเงินของผู้เสียหายจำนวน 9,000 บาท นั้น ผู้เสียหายเบิกความให้ข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้เสียหายกำลังจะโทรศัพท์ติดต่อสามีของตน จำเลยได้ดึงกระเป๋าจากผู้เสียหาย โดยการยื้อแย่งกันจนสายกระเป๋าขาดติดมือผู้เสียหาย ส่วนจำเลยเอากระเป๋าไป โดยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผลักผู้เสียหายดังที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง รวมอยู่ในข้อหาชิงทรัพย์ตามฟ้อง และศาลย่อมลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 1 เดือน ที่ลงฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้ว คงจำคุก 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share