คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญารับขนทำในต่างประเทศระหว่างผู้ส่งและจำเลยผู้ขนส่งซึ่งต่างก็มิใช่บุคคลสัญชาติไทย เมื่อสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่ง และผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้วแต่ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนสูญหาย ทั้งผู้ซื้อและจำเลยเป็นนิติบุคคลที่มีสาขาในประเทศไทย มูลคดีจึงเกิดในประเทศไทย ต้องบังคับตามกฎหมายไทย กรณีไม่มีปัญหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 เมื่อข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่าผู้ส่งได้ทำความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิด ข้อความจำกัดความรับผิดด้านหลังใบตราส่งจึงใช้ยันผู้ส่งผู้รับตราส่งตลอดจนโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดที่รัฐนิวแฮมเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาขาในประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันภัย จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งประเทศเดนมาร์ก เข้าหุ้นประกอบพาณิชยกิจ ใช้ชื่อว่าสายเดินเรือเมอส์ก มีสาขาทั่วโลก รวมทั้งสาขาในประเทศไทยบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกอะไหล่รถแทรกเตอร์ จากบริษัทเอ็กซ์-สเป็ค องค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าสองรายการให้ตัวแทนของจำเลยรับขนจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย และเพื่อประกันความเสียหายของสินค้าดังกล่าว ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์เป็นเงิน 190,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าที่สั่งซื้อในเดือนมีนาคมและเป็นเงิน 155,660 เหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าที่สั่งซื้อในเดือนกรกฎาคมดังกล่าว เมื่อสินค้าทั้งสองรายการมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่า มีสินค้าขาดหายไป คิดเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ซื้อตามที่ประกันภัยไว้เป็นเงิน 2,984.46 เหรียญสหรัฐทั้งนี้ในขณะที่สินค้าได้รับการขนส่งโดยเรือของจำเลยและก่อนส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับใบตราส่ง ผู้สั่งซื้อได้ทวงถามให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงมาเรียกร้องโจทก์ใช้ค่าเสียหายโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้สั่งซื้อ คิดเป็นเงินไทยรวมทั้งสิ้น288,159.04 บาท และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องเอาค่าเสียหายต่อจำเลยในจำนวนเงินดังกล่าว โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 288,159.04 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การว่าผู้ส่งสินค้ามีสัญชาติอเมริกัน จำเลยมีสัญชาติเดนมาร์กทำสัญญากันในต่างประเทศจึงต้องใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐว่าด้วยการขนส่งทางทะเล ค.ศ. 1936 บังคับ ซึ่งหากจำเลยจะต้องรับผิดก็รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในวงเงินไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 13 อีกทั้งตามข้อ 5แห่งใบตราส่ง ซึ่งเป็นสัญญาระบุให้นำกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเลของสหรัฐใช้บังคับด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 32,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน 288,159.04บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สินค้าตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.14 เสียหาย 2 หีบห่อ และสินค้าตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.16 เสียหาย 1 หีบห่อ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่า เมื่อสินค้าที่ขนส่งได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งและบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่งจำกัด ผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว แต่ปรากฏว่ากล่องสินค้าแตกและสินค้าบางส่วนสูญหายไป ทั้งผู้ซื้อและจำเลยทั้งสองผู้ขนส่งก็เป็นนิติบุคคลที่มีสาขาในประเทศไทย มูลคดีจึงเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับอันจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ตามฎีกาของจำเลยไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่ารับขนของทางทะเลท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคท้าย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ห้ามผู้ขนส่งกำหนดข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ในใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นเว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยอย่างแจ้งชัด ปรากฏว่าข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยได้ระบุไว้ด้านหลังใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.14และ ล. 16 กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าผู้รับขนไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5)แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 นั่นเอง คดีนี้ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าผู้ส่งหรือผู้ตราส่งกับจำเลยทั้งสองต่างเป็นสมาชิกของชมรมการเดินเรือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเกี่ยวกับการจำกัดค่าเสียหาย ทั้งเอกสารหมาย ล.10 ที่จำเลยอ้างก็ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าพิพาท จึงยังไม่พอฟังว่า ผู้ส่งสินค้ารายพิพาทนี้ได้ทำความตกลงในเรื่องดังกล่าวแล้วโดยชัดแจ้ง ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าว จึงย่อมไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้และไม่อาจใช้ยันบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับตราส่งซึ่งได้รับช่วงสิทธิจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง โจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้เพียง500 เหรียญสหรัฐอเมริกา ต่อสินค้า 1 หีบห่อไม่ เทียบตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 3401/2529 ระหว่าง บริษัทไพศาลประกันภัย จำกัดโจทก์ บริษัทดัมป์สกิบส์เซลสกาเบ็ทอาฟ 1912 อักทีเซลสแก็บ กับพวกจำเลย…และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบของชมรมการเดินเรือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้องอันเป็นจำนวนความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้นจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share