คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของผู้ร้องถูกเวนคืน อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องและผู้คัดค้านกำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินซึ่งถูกเวนคืนไม่เท่ากัน ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งประธานศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วตั้ง อ. เป็นประธานเพื่อชี้ขาดคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองฝ่ายตั้งอนุญาโตตุลาการจนถึงเวลาที่ผู้ร้องร้องขอให้ศาลตั้ง อ.เป็นประธานต่างฝ่ายต่างไม่มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น อนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้นจึงเป็นการตั้งกันเองโดยศาลมิได้รับรู้มิใช่เป็นการตั้งตามมาตรา 210 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาลแม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งตั้งให้ อ. เป็นประธานเพื่อชี้ขาด ก็ยังถือไม่ได้ว่าไม่เป็นกรณีที่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาลกรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 221 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของ อ.และอ. มิใช่คู่กรณี อ. จึงไม่มีอำนาจที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของ อ. ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องต่างเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่ได้ถูกเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 86 กรมชลประทานกำหนดค่าทดแทนให้ไร่ละ2,000 บาท ผู้ร้องทั้งสี่ไม่ยอมรับ นายมุรธาอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชี้ขาดไร่ละ 68,000 บาท นายมณฑลอนุญาโตตุลาการที่กรมชลประทานตั้งชี้ขาดไร่ละ 10,000 บาท ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องราคาที่ดินที่เป็นธรรมและในการตั้งผู้ใดเป็นประธานเพื่อชี้ขาด ผู้ร้องจึงขอให้ศาลตั้ง ดร.อุกฤษเป็นประธานอนุญาโตตุลาการ

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานของผู้ร้องฝ่ายเดียวเพราะผู้คัดค้านขาดนัดพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งให้ ดร.อุกฤษเป็นประธานเพื่อชี้ขาดคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรม

ต่อมา ดร.อุกฤษยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของดร.อุกฤษ ซึ่งกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ร้องไร่ละ 68,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำชี้ขาดนี้มิได้ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาว่าให้ถือราคาค่าทดแทนที่ดินของผู้ร้องไร่ละ 68,000 บาทตามคำชี้ขาดของดร.อุกฤษ ประธานอนุญาโตตุลาการ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของ ดร.อุกฤษ

ผู้ร้องทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่ออนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องและผู้คัดค้านชี้ราคาที่ดินในราคาที่เป็นธรรมไม่เท่ากัน และไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องดังกล่าวกับเรื่องตั้งผู้ใดเป็นประธานเพื่อชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายจึงให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งประธานศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งให้ ดร.อุกฤษเป็นประธานคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว ดร.อุกฤษได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดตามคำชี้ขาดของ ดร.อุกฤษซึ่งกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ร้องไร่ละ 68,000บาท และศาลได้พิพากษาตามคำชี้ขาดนั้นแล้ว แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า

เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน ตลอดมาจนถึงเวลาที่ผู้ร้องขอให้ศาลตั้ง ดร.อุกฤษเป็นประธานชี้ขาดคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้นเป็นการตั้งกันเองโดยศาลมิได้รับรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มิใช่เป็นการตั้งตามบทบัญญัติมาตรา 210 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล แม้ว่าต่อมาอนุญาโตตุลาการชี้ขาดราคาที่เป็นธรรมไม่เท่ากันและมีเสียงเท่ากันจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ ดร.อุกฤษเป็นประธานเพื่อชี้ขาดคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าไม่เป็นกรณีที่เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลการชี้ขาดนอกศาล กรณีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 221แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของ ดร.อุกฤษ และ ดร.อุกฤษมิใช่คู่กรณีจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลได้

พิพากษายืน

Share