คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID – COMBID” ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 6 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว และตัวพิมพ์เล็กอีกจำนวน 5 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิฟ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันจำนวน 6 ตัว เช่นเดียวกัน และเป็นอักษรโรมันที่เหมือนกันเกือบทั้งหมดโดยมีความแตกต่างกันที่ตัวอักษรตัวสุดท้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” ของโจทก์เป็นตัวอักษร “D” แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” เป็นตัวอักษร “F” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแล้ว พบว่ามีความแตกต่างที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” คำที่ 2 มีเพียงตัวอักษรตัวแรก คืออักษร “C” เท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนตัวอักษรที่เหลือทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์เล็ก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าทั้งสองแม้จดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน คือ จำพวกที่ 5 แต่รายการสินค้าที่จดทะเบียนนั้นแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนใช้กับรายการสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัส ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” ขอจดทะเบียนใช้กับรายการสินค้าอาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูก ซึ่งเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โอกาสที่ผู้บริโภคจะสับสนหลงหรือผิดจึงเป็นไปได้น้อย แม้จะเป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้สินค้าของยาทั้งสองก็แตกต่างกัน สินค้ายาตามเครื่องหมายการค้า “COMBID” ของโจทก์ ผู้ใช้คือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไม่สามารถซื้อใช้เองได้โดยตรง แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “COMBIF” เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างกว่า ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ที่ขอจดทะเบียนจึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ 106/2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 581/2556 และให้จำเลยที่ 1 ระงับการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ตามคำขอเลขที่ 717440
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสิบไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายคำประดิษฐ์คำว่า “COMBID COMBID” (อ่านว่า คอม-บิด) โดยได้รับโอนสิทธิทางทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจาก แกล็กโซ กรุ๊พ ลิมิเต็ด เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้ในประทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวก 5 รายการสินค้า ยาที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัส ตามคำขอเลขที่ 351156 ทะเบียนเลขที่ ค 80914 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 เมดดิโนวา เอจี ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสมาพันธรัฐสวิต ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำประดิษฐ์ว่า “COMBIF Combif” (อ่านว่า คอม-บิฟ) เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวก 5 รายการสินค้า อาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 717440 แกล็กโซ กรุ๊พ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” ในขณะนั้นเห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ตามคำขอเลขที่ 717440 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ลอกเลียนมาจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” ที่ได้ใช้จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จึงได้ยื่นคำคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่า แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” จะมีรูปลักษณะคล้ายกันและมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน แต่รายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสันสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” จึงชอบที่จะรับจดทะเบียนได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 8 (9) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ยกคำคัดค้าน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับปัญหาตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้า”COMBIF Combif” ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID – COMBID” ของโจทก์ จนทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID – COMBID” ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 6 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว และตัวพิมพ์เล็กอีกจำนวน 5 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิฟ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันจำนวน 6 ตัว เช่นเดียวกัน และเป็นอักษรโรมันที่เหมือนกันเกือบทั้งหมดโดยมีความแตกต่างกันที่ตัวอักษรตัวสุดท้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” ของโจทก์เป็นตัวอักษร “D” แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” เป็นตัวอักษร “F” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแล้ว พบว่ามีความแตกต่างที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” คำที่ 2 มีเพียงตัวอักษรตัวแรก คืออักษร “C” เท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนตัวอักษรที่เหลือทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์เล็ก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าทั้งสองแม้จดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน คือ จำพวกที่ 5 แต่รายการสินค้าที่จดทะเบียนนั้นแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนใช้กับรายการสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัส ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” ขอจดทะเบียนใช้กับรายการสินค้าอาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูก ซึ่งเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โอกาสที่ผู้บริโภคจะสับสนหลงหรือผิดจึงเป็นไปได้น้อย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าของโจทก์ กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน อีกทั้งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” มิใช่อาหารเสริมทั่วไป แต่เป็นอาหารเสริมที่ใช้ในทางการแพทย์ จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริโภคที่ใช้สินค้าทั้งสองประเภทจึงอาจเป็นผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันและอาจทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดได้ เนื่องจากสินค้าทั้งสองประเภทนี้ต่างมีใช้หรือจำหน่ายให้แก่คนไข้ในโรงพยาบาลเหมือนกัน อาจเกิดความผิดพลาดในการสั่งจ่าย (prescribe) หรือในการจ่าย (dispense) อันเนื่องมาจากชื่อเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่มีความใกล้เคียงได้ นั้น เห็นว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัสและเป็นยาที่ใช้รักษาเฉพาะโรคเอดส์ ในขณะที่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF Combif” ของผู้ขอจดทะเบียน ใช้กับสินค้าอาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูกที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้เอง แม้จะเป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้สินค้าของยาทั้งสองก็แตกต่างกัน สินค้ายาตามเครื่องหมายการค้า “COMBID” ของโจทก์ ผู้ใช้คือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไม่สามารถซื้อใช้เองได้โดยตรง แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “COMBIF” เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างกว่า ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ โอกาสที่ผู้บริโภคจะสับสนหรือหลงผิดจึงมีความเป็นไปได้น้อย แม้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันก็ตาม และที่โจทก์อ้างว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดในการสั่งจ่ายซึ่งเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติงานของบุคลากรในวงการสาธารณสุขนั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนางปานียา ซึ่งเป็นแพทย์และเป็นพยานโจทก์ที่เบิกความตอบคำถามศาลรับว่า แพทย์ไม่น่าจะสับสนเพราะยาทั้งสองประเภทใช้ในการรักษาที่แตกต่างกัน แม้พยานปากนี้จะเบิกความต่อไปว่าอาจมีความสับสนในขั้นตอนของการจ่ายยาได้ก็ตาม แต่เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคเอดส์กับอาหารเสริมนั้นมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันมาก โอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์หรือเภสัชกรผู้จ่ายยา ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องนี้จะสับสนและจ่ายยาผิดพลาดย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งโจทก์มิได้มีพยานหลักฐานใด ๆ มาแสดงให้เห็นว่ามีแพทย์ซึ่งเกิดความสับสนและผิดพลาดจากการจ่ายยาทั้งสองประเภทนี้แต่อย่างใด คงมีเพียงเอกสารเผยแพร่ทางเว็บไซต์ชื่อ “ความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาผู้ป่วยใน” และเอกสารทางวิชาการชื่อ “การป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย” ระบุสาเหตุความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาผิดบางประการไว้ว่า อาจเกิดจากการจ่ายยาผิดชนิดและยกตัวอย่างยาที่มีชื่อออกเสียงคล้ายกันหรือสะกดคล้ายกันว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยา แต่ไม่มีข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่ามีการจ่ายยาผิดพลาดขึ้นสำหรับยาประเภทใดบ้าง รวมถึงยาที่เป็นสินค้าของโจทก์กับยาที่เป็นสินค้าของผู้จดทะเบียนเครื่องการค้าในคดีนี้แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์เกี่ยวกับการสับสนหลงผิดในการจ่ายยาทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีความผิดพลาดจากการสั่งจ่ายอาหารเสริมที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ของผู้ขอจดทะเบียนกับยาต้านไวรัสเอดส์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “COMBID” อันเนื่องจากความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าทั้งสองจนทำให้สับสนหรือหลงผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ที่ขอจดทะเบียนจึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBID” ของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “COMBIF” ที่ขอจดทะเบียนนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำหนดของสินค้าได้และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share