คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7234/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้ผู้เสียหายซึ่งคือโจทก์ร่วม เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมเองกลับยืนยันรับข้อเท็จจริงในฎีกาของโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงนามในฐานะผู้ให้กู้แทนบริษัทลัวเซียร์-ไทย จำกัด จึงต้องถือว่าบริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด เป็นผู้ทรงและ มีสิทธิได้รับเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ แม้ตามข้อเท็จจริงโจทก์ร่วมเพียงผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทลัวเซียร์-ไทย จำกัด ได้ ก็ไม่อาจแปลเจตนาว่ากระทำแทนผู้เสียหายในกรณีเช่นนี้ได้ โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่าจำเลยออกเช็ครวม ๒ ฉบับ มอบให้นางสุพัตรา ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๑) (๒) (๕)
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ระหว่างพิจารณานางสุพัตรา ผู้เสียหายทั้งสองสำนวนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๑) (๕) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้จำคุกกระทงละ ๑ ปี เรียงกระทงลงโทษรวม ๒ กระทง เป็นจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์ร่วมแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและมีอำนาจฟ้องหรือไม่เสียก่อน ในปัญหานี้โจทก์ร่วมอ้างในฎีกาว่า จากการนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาข้อตกลงว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดหาธนาคารมาเป็นผู้ค้ำประกันงานโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกโดยโจทก์ร่วมจ่ายเงินในนามกรรมการผู้จัดการบริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด ให้แก่จำเลย สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยออกเช็คให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถหาธนาคารมาค้ำประกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าใช้จ่ายพร้อมค่าเสียหายแก่ บริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยยินยอมให้โจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมในฐานะกรรมการบริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้ และจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ โจทก์ร่วมมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการกระทำในฐานะเป็นตัวแทนเชิดของ บริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ มอบให้ นางสุพัตรา แสงอร่าม ผู้เสียหายซึ่งคือโจทก์ร่วม เพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมเองกลับยืนยันรับข้อเท็จจริงในฎีกาของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมลงนามในฐานะผู้ให้กู้แทน บริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด จึงต้องถือว่าบริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด เป็นผู้ทรงและมีสิทธิได้รับเงินตามเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ แม้ตามข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมเพียงผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการแทนบริษัทลัวเซียร์ – ไทย จำกัด ได้ ก็ไม่อาจแปลเจตนาว่า กระทำแทนผู้เสียหายในกรณีเช่นนี้ได้ โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายคดีนี้ไม่มีสิทธิจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีอำนาจฟ้อง คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมประการอื่นอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน .

Share