คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในระหว่างพิจารณาในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นเวลาเดียวกับที่จำเลยถูกขังอยู่ในคดีอื่นด้วยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนับแต่วันที่ออกหมายขังจำเลยจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย ศาลชั้นต้นจึงปล่อยตัวไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางนา ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 สั่งจ่ายบริษัท ส.รุ่งเรืองค้าเหล็ก จำกัด ผู้เสียหายจำนวนเงิน 31,500 บาท เพื่อเป็นการชำระหนี้สินค้าประเภทเหล็ก ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2538ผู้เสียหายนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่โปรดนำมายื่นใหม่ ทั้งนี้ จำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีในขณะที่ออกเช็คนั้น ออกเช็คโดยในขณะออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ต่อมาวันที่9 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ แต่ถูกควบคุมตัวในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2539 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 171/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2539 และ 171/2539 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 2 เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วจึงให้ปล่อยตัวไป คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกโดยระบุไว้ในคำพิพากษาว่า “จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วจึงให้ปล่อยตัวไป” นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลชั้นต้นนำวันที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นมาหักจากระยะเวลาจำคุกในคดีนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เห็นว่า เกี่ยวกับการคุมขังประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 1(12) ว่า “คุมขัง” หมายความว่า คุมตัวควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(22)บัญญัติว่า “ขัง” หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล และมาตรา 71วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้มาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้ วรรคสามบัญญัติว่า ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องก็ได้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณา ตามหมายขังเลขที่ 16/2539 ลงวันที่ 16 มกราคม 2539 ในคดีนี้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและขณะที่จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดีอื่นจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้จำเลยถูกขังในคดีนี้ตามหมายขังดังกล่าวของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 เป็นต้นมา ทำนองเดียวกับการที่จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 คดี พร้อมกัน หากศาลมิได้กล่าวในคำพิพากษาว่าให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากอีกคดีหนึ่ง ก็ต้องนับโทษจำคุกของจำเลยในทั้งสองคดีไปพร้อมกันหมายความว่าจำเลยสามารถรับโทษจำคุกทั้งสองคดีไปพร้อม ๆ กัน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 บัญญัติว่า นับแต่เวลายื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังตามหมายศาล ๆ จะขังจำเลยต่อไปหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 71 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรืออกหมายจำคุกแทน เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขังจำเลยไว้ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย เป็นกรณีที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาสามารถหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ดังประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคหนึ่งได้ การที่ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา และเห็นว่าจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไปนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share