แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วในฐานะที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. จากเจ้าของเรือทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือ อ. นั้น เป็นการบรรยายให้เห็นถึงมูลเหตุและสถานะของจำเลยที่เข้าทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ และเพื่อให้การนำเรือที่จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการออกให้บริการในน่านน้ำไทยได้ จำเลยจึงจำเป็นต้องนำเรือดังกล่าวไปตรวจสภาพและขอรับการจัดชั้นเรือพร้อมทั้งขอรับใบรับรองสถานภาพเรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความชำนาญและมีหน้าที่โดยตรงซึ่งก็คือโจทก์นั่นเอง หาใช่โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนซึ่งเข้าทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ไม่ ส่วนจำเลยให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แทนเจ้าของเรือซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศมาเลเซียและโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว อันเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น โดยอ้างเหตุว่าจำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ แต่จำเลยทำสัญญากับโจทก์แทนตัวการซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือแทนตัวการหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ทำไปแล้วหลังจากจำเลยเลิกสัญญาหรือไม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทผิดไปจากข้ออ้างและข้อเถียง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคหนึ่ง
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีความมุ่งหมายเพื่อให้คู่ความแพ้ชนะคดีกันในเนื้อหาแห่งคดีตามกฎหมายสารบัญญัติ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้เพิกถอนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาตรา 246 และ 142 (5)
จำเลยเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือ อ. (Ship Management Agent) แทนเจ้าของเรือ (Shipowner) โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการบริหารจัดการเรือแก่เจ้าของเรือเพื่อนำออกให้บริการรับขนส่ง และเมื่อเจ้าของเรือประสงค์จะนำเรือออกให้บริการรับขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยจึงย่อมต้องทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ และระเบียบว่าด้วยการนำเรือออกให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจจัดชั้นเรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเรือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ของเรือ และระวางบรรทุกก็เพื่อให้เรือสามารถจดทะเบียนได้ใบอนุญาตใช้เรือและนำเรือออกให้บริการได้ พฤติการณ์และลักษณะการให้บริการของจำเลยแก่เจ้าของเรือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์นาวีและอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือ อ. แทนเจ้าของเรือรวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงทำให้การบริการของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวแทนค้าต่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 833 ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่ว่าเจ้าของเรือซึ่งเป็นตัวการคือใคร โดยทั้งเจ้าของเรือและจำเลยต่างก็มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เรือในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ หากจำเลยบริหารจัดการเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพเจ้าของเรือก็จะได้ผลกำไรจากการดำเนินการนั้น ส่วนจำเลยก็จะได้ผลประโยชน์เป็นบำเหน็จตอบแทนจากเจ้าของเรือ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุง ซ่อมแซมเรือ อ. จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือซึ่งได้รับมอบหมายเรือไว้จากเจ้าของเรือย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การใช้งานดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 842 บัญญัติไว้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฝากทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามควรแก่เรื่อง จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างจึงย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,186,702.42 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน จำเลยแถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การเรื่องอำนาจฟ้องและอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 59,698.45 บาท และจำนวน 1,127,003.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2553 และวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 116,159.59 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหราชอาณาจักร ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตามบัญชีสาม รายการที่ 21 ประเภทธุรกิจบริการ ในประเทศไทย จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้บริการตรวจสอบสภาพเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ การบริการออกหมายเลขประจำเรือ ตรวจสอบมาตรฐานเครื่องจักรกล เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อใช้ติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรม โรงงาน/แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ยานพาหนะต่าง ๆ ในระบบขนส่งมวลชน ตามสำเนาหนังสือรับรอง มีนายอานนท์ เป็นตัวแทนนิติบุคคลโจทก์ในประเทศไทยตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนโจทก์ มีอำนาจบริหารจัดการกิจการของโจทก์ในประเทศไทยสามารถเข้าเป็นคู่สัญญาต่าง ๆ ในนามของโจทก์รวมทั้งการฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วยตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่23 มิถุนายน 2546 พร้อมคำแปล จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมใช้ชื่อว่าบริษัทบางกอกมารินไทม์ แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัทเคมสตาร์ แมเนจเมนท์ จำกัด ตามลำดับ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการขนส่งขนถ่ายสินค้าและคนโดยสารทางบก ทางน้ำ รวมทั้งการบริการงานด้านบริหารจัดการเรือรับขนส่ง และอื่น ๆ ตามสำเนาหนังสือรับรอง เรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน เลขประจำตัวเรือที่ 8919972 มีสัญชาติมาเลเซีย เจ้าของเรือดังกล่าวว่าจ้างจำเลยให้บริหารจัดการเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ให้แต่เนื่องจากเรือดังกล่าวจอดอยู่ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเวลานาน เจ้าของเรือต้องการขออนุญาตนำเรือออกให้บริการ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและซ่อมแซมเรือเพื่อออกประกาศนียบัตรรับรองความมั่นคงแข็งแรงของเรือดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือได้ร้องขอให้โจทก์ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือกวนตาน ประเทศมาเลเซีย ตามคำร้องขอว่าจ้างสำรวจเรือพร้อมคำแปล โดยมีนายวิชัย ผู้จัดการทั่วไปบริษัทจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว หลังจากทำสัญญา โจทก์ตรวจสอบสภาพเรือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบเรือ (Periodical Survey Regulation) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 จนกระทั่งสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 โจทก์ออกหนังสือรับรองการสำรวจฉบับชั่วคราว (Interim Certificate) ให้แก่จำเลย ซึ่งในหนังสือรับรองดังกล่าวระบุรายการที่จะดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ตามหนังสือรับรองการตรวจสอบสภาพเรือพร้อมคำแปล แต่จำเลยไม่อาจซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่โจทก์ตรวจพบและแจ้งให้ทราบดังกล่าวเสร็จภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด จำเลยจึงขอเลื่อนกำหนดการตรวจสภาพเรือต่อโจทก์ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 7 กันยายน 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโจทก์เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพเรือได้ จึงขอถอนเรือจากการตรวจสภาพและจัดชั้นเรือต่อโจทก์ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2553 พร้อมคำแปลในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้นชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน เพื่อจำเลยจะได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพชั้นเรือก่อนนำเรือดังกล่าวมาขออนุญาตเดินเรือในน่านน้ำไทย หลังจากทำสัญญาโจทก์ดำเนินการสำรวจเรือดังกล่าวทั้งลำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงออกหนังสือรับรองการสำรวจฉบับชั่วคราวให้แก่จำเลย ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะระบุรายการข้อบกพร่องของเรือที่จำเลยต้องปรับปรุงแก้ไขสภาพเรือให้เรียบร้อยตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนด เพื่อให้โจทก์ตรวจสภาพเรือหลังการปรับปรุงซ่อมแซมเรือแล้วและออกหนังสือรับรองการจัดชั้นเรือ แต่จำเลยไม่อาจดำเนินการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมข้อบกพร่องของเรือตามรายการที่โจทก์แจ้งได้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่โจทก์กำหนด จำเลยจึงขอถอนเรือจากการตรวจสภาพเรือและจัดชั้นเรือต่อโจทก์ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลยตามส่วนของงานที่โจทก์ได้ดำเนินการไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์คือ จำเลยไม่ชำระเงินค่าบริการที่โจทก์ได้ทำให้จำเลยไปแล้วตามสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็มคิงส์ตัน เพื่อให้โจทก์ได้คืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมหลังจากที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยบอกเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายและค่าบริการในส่วนที่เป็นการงานอันโจทก์ได้กระทำให้แก่จำเลยไปแล้วตามสัญญาดังกล่าว โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินค่าบริการตามควรค่าแห่งการงานในส่วนการตรวจสอบสภาพเรือและแจ้งรายการแก้ไขข้อบกพร่องของสภาพเรือที่พบซึ่งโจทก์ได้ทำให้แก่จำเลยแล้ว ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการที่โจทก์กล่าวอ้างให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วในฐานะที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับโจทก์เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ส่วนที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือชื่อ เอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน จากเจ้าของเรือดังกล่าวทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน นั้นเป็นการบรรยายให้เห็นถึงมูลเหตุและสถานะของจำเลยที่เข้าทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ และเพื่อให้การนำเรือที่จำเลยเป็นผู้บริหารจัดการออกให้บริการในน่านน้ำไทยได้ จำเลยจึงจำเป็นต้องนำเรือดังกล่าวไปตรวจสภาพและขอรับการจัดชั้นเรือพร้อมทั้งขอรับใบรับรองสถานภาพเรือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความชำนาญและมีหน้าที่โดยตรงซึ่งก็คือโจทก์นั่นเอง หาใช่เป็นการที่โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวแทนซึ่งเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ โดยตัวแทนดังกล่าวจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ไม่ ส่วนที่จำเลยให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วตามคำฟ้อง เพราะจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน กับโจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศมาเลเซีย และโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว อันเป็นกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่บังคับให้จำเลยชดใช้เงินค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วตามคำฟ้องทั้งสิ้น โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ แต่จำเลยทำสัญญาตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง แทนตัวการซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยทำสัญญาในฐานะตัวแทนของตัวการดังกล่าวแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของการกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นแห่งคดีตามคำคู่ความ ให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือแทนตัวการหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วแก่โจทก์ตามคำฟ้องหลังจากจำเลยเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน หรือไม่ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทผิดไปจากข้ออ้างและข้อเถียงตามคำฟ้องและคำให้การ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง อันเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาคดี การกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้คู่ความจะมิได้โต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยมุ่งหมายให้คู่ความแพ้ชนะคดีกันในเนื้อหาแห่งคดีตามสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายตามกฎหมายสารบัญญัติในประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง มิได้มุ่งหมายให้คู่ความแพ้ชนะกันตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้เพิกถอนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ให้ถูกต้อง แล้วพิจารณาพิพากษาไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) และเมื่อโจทก์กับจำเลยต่างได้นำสืบพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือแทนตัวการหรือไม่และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ทำไปแล้วแก่โจทก์ตามคำฟ้องหลังจากจำเลยเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน หรือไม่มาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
ปัญหาว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ตรวจเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน แทนเจ้าของเรือผู้เป็นตัวการหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วแก่โจทก์ตามคำฟ้องหลังจากจำเลยเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ดังคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์โดยสรุปว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน กับโจทก์ตามคำร้องขอว่าจ้างสำรวจเรือพร้อมคำแปล ในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศมาเลเซีย เจ้าของเรือจึงเป็นตัวการในสัญญาดังกล่าว และโจทก์ทราบข้อเท็จจริงนี้ จึงมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเรือปัจจุบันชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย ตามใบแจ้งหนี้ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และวันที่ 28 มกราคม 2554 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษา เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง คำให้การ และตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบว่า เจ้าของเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้บริหารจัดการเรือดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้จำเลยมีนายวิชัย พนักงานบริษัทจำเลยตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มาเบิกความเป็นพยานจำเลยรับว่า หน้าที่รับบริหารจัดการเรือคือการเป็นผู้บริหารจัดการเรือ (Ship Management Agent) แทนเจ้าของเรือ (Shipowner) โดยบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการบริหารจัดการเรือให้แก่เจ้าของเรือ จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหน้าที่หลักในการบริหารจัดการเรือก็เพื่อให้เรือนั้นสามารถนำออกใช้ประโยชน์ด้วยการให้บริการรับขนส่ง และเมื่อเจ้าของเรือประสงค์จะนำเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ออกให้บริการรับขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยในฐานะผู้รับบริหารจัดการเรือดังกล่าวซึ่งทราบว่าโจทก์เคยเป็นผู้สำรวจจัดชั้นเรือลำนี้มาก่อนจึงย่อมต้องทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ และระเบียบว่าด้วยการนำเรือออกให้บริการระหว่างประเทศ ซึ่งการสำรวจจัดชั้นเรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเรือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ของเรือและระวางบรรทุกก็เพื่อให้เรือสามารถจดทะเบียนได้ใบอนุญาตใช้เรือและนำเรือออกให้บริการขนส่งระหว่างประเทศได้ การสำรวจจัดชั้นเรือจึงเป็นขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งและเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งในการบริหารจัดการเรือของผู้รับจ้างบริหารจัดการเรือนั่นเอง นอกจากนี้หลังจากที่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยแล้วจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือจะต้องเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมเรือ จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านายวิชัยซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัทจำเลยและจบการศึกษาจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า ทราบดีถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารจัดการเรือดังกล่าว จึงลงนามในคำร้องขอว่าจ้างสำรวจเรือ ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือ (Classification) รวมทั้งออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตันนอกจากนี้ในระหว่างการตรวจสภาพเรือ จำเลยโดยนายวิชัยก็เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับโจทก์ตามจดหมายอิเล็กทรอริกส์ โดยตลอดและแม้หลังจากที่จำเลยถอนเรือจากการตรวจสภาพและจัดชั้นต่อโจทก์แล้ว จำเลยก็ยังได้นำเรือไปรับการตรวจสภาพและจัดชั้นโดยกรมเจ้าท่าแทนจนเสร็จสิ้น พฤติการณ์และลักษณะการให้บริการของจำเลยแก่เจ้าของเรือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจพาณิชย์นาวีกับบทบาทและหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน แทนผู้เป็นเจ้าของเรือ รวมทั้งการว่าจ้างโจทก์ให้สำรวจเรือจัดชั้นเรือ ออกหนังสือรับรองและทำรายงานการตรวจสภาพเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ตามคำร้องขอว่าจ้างสำรวจเรือดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่จำเลยผู้เป็นบุคคลซึ่งในทางค้าขายของจำเลยรับจัดทำกิจการบริหารจัดการเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ในนามของตนเองต่างเจ้าของเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ผู้เป็นตัวการ จำเลยจึงเป็นตัวแทนค้าต่างตามความหมายในมาตรา 833 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยทั้งเจ้าของเรือและจำเลยต่างก็มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้เรือในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ หากจำเลยบริหารจัดการเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าของเรือก็จะได้ผลกำไรจากการดำเนินการนั้น ส่วนจำเลยก็จะได้ผลประโยชน์เป็นบำเหน็จตอบแทนจากเจ้าของเรือ โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซมเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน จำเลยในฐานะผู้บริหารจัดการเรือซึ่งได้รับมอบหมายเรือไว้จากเจ้าของเรือย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมืออันพิเศษสำหรับผู้มีวิชาชีพเฉพาะในการดูแลรักษาเรือให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้เดินทะเลไอ้ย่างปลอดภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 842 ประกอบมาตรา 659 จำเลยผู้เป็นตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อโจทก์ผู้เป็นคู่สัญญาตามสัญญาจ้างตรวจเรือ ในกิจการบริหารจัดการเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน นั้น และจำเลยผู้เป็นตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยตามมาตรา 837 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ผู้เป็นคู่สัญญาตามคำร้องขอว่าจ้างสำรวจเรือกับจำเลย จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนค้าต่างรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หลังจากจำเลยเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการสำรวจเรือและจัดชั้นเรือเอ็มเอ็มเอ็ม คิงส์ตัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดในฐานะที่เป็นตัวแทนของตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามจำนวนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่นั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดค่าการงานในส่วนที่โจทก์ได้ทำไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าบริการแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวแทนของตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเป็นการวินิจฉัยนอกจากที่กล่าวในคำฟ้องหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ