คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รังนกอีแอ่น ในถ้ำเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา การที่บริษัทผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่น อันเป็นการผูกขาดจากรัฐบาล ผู้เสียหายมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกอีแอ่น ในถ้ำที่ผูกขาดย่อมมีสิทธิที่จะเข้าเก็บเอาได้ไม่ถูกหวงห้ามเสมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต แต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกอีแอ่น ยังจะต้องมีการเข้ายึดเอาอีกชั้นหนึ่งก่อนเมื่อผู้เสียหายยังมิได้เข้าถือเอารังนกอีแอ่น ตามมาตรา 1318แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ผู้เสียหายจึงมิได้ เป็นเจ้าของในรังนกรายพิพาทการเก็บรังนกอีแอ่น ดังกล่าว ของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ของผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกเป็นความผิดฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรัง อยู่ ตามธรรมชาติแต่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีพระราชบัญญัติ อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น ฉบับเดิมทั้งหมด โดยไม่มีบทบัญญัติใดระบุการเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ ตามธรรมชาติ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นหรืออาศัยอำนาจผู้ได้รับอนุญาตหรือเจ้าหน้าที่ของ รัฐบาลตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติ ฉบับเดิมและไม่มีบทกำหนดโทษเช่นพระราชบัญญัติฉบับเดิม ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดจำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 210, 334, 335, 336 ทวิพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 6, 7,9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม 336 ทวิ,พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 6,7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 ปี ฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยกระทำผิดกฎหมายให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3คนละ 1 ปี ฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 90 บาทรวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 7 ปี ปรับคนละ 90 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 คนละ 4 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 60 บาท สำหรับจำเลยที่ 2ขณะกระทำความผิดอายุเพียงสิบห้าปี เมื่อพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสถานภาพของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่สมควรพิพากษาลงโทษแต่เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยที่ 2เห็นสมควรส่งจำเลยที่ 2 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลาจนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74(5), 75 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายหลายคนลักลอบขึ้นไปบนเกาะรูสิบ หมู่เกาะสี่เกาะห้าและเข้าไปในถ้ำดำซึ่งเป็นเกาะที่มีนกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามและอยู่ในเขตที่บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัดผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่น แล้วคนร้ายร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นสีดำจำนวน 5 กิโลกรัมราคา 15,000 บาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำผิดฐานลักรังนกอีแอ่นเก็บรังนกอีแอ่นทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น และมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่คดีนี้แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำผิดในขณะเกิดเหตุมาเบิกความก็ตามแต่โจทก์ก็มีนายหยุ้ง ขุนศรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ. 5 ให้เป็นผู้ดูแลเกาะรูสิบสถานที่เกิดเหตุมาเบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายได้รับสัมปทานให้เก็บรังนกอีแอ่นที่เกาะสี่เกาะห้า ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะรูสิบและเกาะอื่นๆอีกหลายเกาะ ตามสำเนาสัญญาต่ออายุสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเอกสารหมาย จ. 2 กำหนดให้ผู้เสียหายมีหน้าที่เฝ้าดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหรือสัตว์มาทำร้ายนกอีแอ่นไข่และลูกนกอีแอ่นซึ่งผู้เสียหายได้จัดเวรยามเฝ้าในเขตห้ามเข้าและทำป้ายปักไว้แสดงอาณาเขตตามภาพถ่ายหมาย จ. 3 ปกติพยานจะไปตรวจสอบรังนกซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำดำทุกสัปดาห์ภายหลังเกิดเหตุพยานได้ไปตรวจดูที่ผนังถ้ำดังกล่าว ปรากฎว่ารังนกอีแอ่นหายไปกว่า 5 กิโลกรัม เป็นรังนกสีดำซึ่งอยู่ในระหว่างที่นกอีแอ่นฟักไข่หรือเลี้ยงลูกนกนอกจากนั้นโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทประสงค์ ศรีวิมล และจ่าสิบตำรวจสุนันท์ รักษ์ศรีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามมาเบิกความยืนยันว่าวันที่ 27 สิงหาคม 2538 เวลาช่วงบ่าย ร้อยตำรวจโทประสงค์ได้รับแจ้งจากจุดปฏิบัติการที่เกาะสี่เกาะห้าว่าในคืนดังกล่าวจะมีคนร้ายลักลอบขโมยรังนก จึงร่วมกับพวกและจ่าสิบตำรวจสุนันท์วางแผนจับกุม ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกาขณะที่พยานทั้งสองกับพวกขับเรือลาดตระเวนมาใกล้ถึงเกาะรูสิบบริเวณถ้ำดำได้ยินเสียงนกอีแอ่นร้องผิดปกติจึงดับเครื่องยนต์และพายเรือไปที่เกาะดังกล่าว เมื่อขึ้นบนเกาะได้พบคนร้ายหลายคนเกิดยิงต่อสู้กัน จึงวิทยุแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบและขอกำลังสนับสนุน เมื่อเสียงปืนสงบลง พบคนร้ายถูกยิงถึงแก่ความตาย 1 คน พยานทั้งสองกับพวกขึ้นไปที่ถ้ำดำพบจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับคนร้ายอีก 3 คน อยู่บริเวณหน้าถ้ำจึงจับจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวไว้ สอบถามแล้วจำเลยที่ 1รับว่าใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะมากับพวกรวม 7 คน ต่อมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น พยานทั้งสองกับพวกเข้าไปตรวจค้นภายในถ้ำดังกล่าว จับคนร้ายได้อีก 13 คนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วยกับยึดอุปกรณ์สำหรับแทงรังนกได้หลายรายการตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ. 7 ส่วนรังนกอีแอ่น5 กิโลกรัมของกลาง จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำออกมาจากถ้ำดังกล่าวเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความได้เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันแม้จะเบิกความแตกต่างกันบ้างก็มิใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับจะทำให้คำพยานเสียไปจนไม่อาจรับฟังได้ว่าพยานได้รู้เห็นจริงดังที่ได้เบิกความมา โดยเฉพาะพยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำหรือแกล้งใส่ร้ายจำเลยทั้งสามคดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามกับคนร้ายอื่น ๆ ได้อีกหลายคน ภายในบริเวณหน้าถ้ำดำและในถ้ำดำซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุที่มีการกระทำผิดพร้อมกับยึดอุปกรณ์การเก็บรังนกอีแอ่นได้หลายรายการตามบัญชีของกลางคดีอาญาดังกล่าวพร้อมกับยึดรังนกอีแอ่นสีดำจำนวน 5 กิโลกรัม ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำออกมาจากถ้ำดังกล่าวในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ. 10 และ จ. 12 ถึง จ. 14 ตามลำดับในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสามก็นำสืบรับว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับเรือหางยาวโดยมีจำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมไปด้วยเพื่อจะไปเก็บรังนกที่เกาะสี่ เกาะห้าเมื่อเรือแล่นห่างเกาะเกิดเหตุประมาณ 10 เมตร จึงจอดเรือต่อมาเวลา 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ล่องน้ำไปยังเกาะดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 เฝ้าเรือไว้ต่อมาประมาณ 30 นาที ได้ยินเสียงปืน จำเลยที่ 1 และที่ 2ล่องน้ำกลับมาที่เรือและขับกลับบ้าน จำเลยที่ 1ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ระหว่างเรือจอดเทียบท่าที่คลองปากบาง เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นจับกุมชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณากับของกลางทั้งหมดที่ยึดได้จากจำเลยทั้งสามในที่เกิดเหตุแล้วรูปคดีฟังได้มั่นคงว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสัมปทานให้เก็บรังนกอีแอ่นที่เกาะรูสิบ ถ้ำดำสถานที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเก็บรังนกอีแอ่นทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นและมีรังนกอีแอ่นของกลางไว้โดยไม่รับอนุญาต สำหรับความผิดตามข้อกล่าวหาฐานร่วมกันลักทรัพย์รังนกอีแอ่นตามฟ้องนั้นเห็นว่า รังนกอีแอ่นในถ้ำตามเกาะดังถ้ำของสถานที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา การที่บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัดผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกอีแอ่นอันเป็นการผูกขาดจากรัฐบาล ผู้เสียหายมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกอีแอ่นในถ้ำที่ผูกขาดก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าเก็บเอาได้ไม่ต้องมีการหวงห้ามเสมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาตแต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกอีแอ่น ยังจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน ตามฟ้องและตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามกับพวกไม่ใช่ลูกจ้างของผู้เสียหาย ผู้เสียหายยังมิได้เข้าถือเอารังนกอีแอ่นนั้นตามมาตรา 1318แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เสียหายยังมิได้เป็นเจ้าของในรังนกรายนี้ การเก็บรังนกอีแอ่นดังกล่าวของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายส่วนความผิดฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้น เห็นว่าขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกเป็นความผิดฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2540 ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับเดิมทั้งหมดโดยไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่าการเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นหรือผู้อาศัยอำนาจผู้ได้รับอนุญาตหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติฉบับเดิมและไม่มีบทกำหนดโทษเช่นพระราชบัญญัติฉบับเดิม ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดจำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวจำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมกับพวกเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกระทงหนึ่งและผิดฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยผิดกฎหมายอีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น และความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น ตามมาตรา 7, 5, และ 9 แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 กำหนดโทษไว้ตามมาตรา 10ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ ต่อมามีพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2540 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2482 ทั้งหมด ซึ่งตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับใหม่ ความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นหรือการกระทำใด ๆอันเป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นตามมาตรา 14 วรรคหนึ่งและ 25 วรรคหนึ่ง กำหนดโทษไว้ตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นโดยรู้ว่าได้มาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 26 กำหนดโทษไว้ตามมาตรา 31ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวของจำเลยทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540นี้กำหนดโทษไว้หนักกว่าพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับเดิมที่ถูกยกเลิก จึงต้องใช้พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามมาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 7, 9 และ 10ฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่รับอนุญาต และฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ลงโทษฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่รับอนุญาตให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี รวมกับโทษฐานร่วมกันมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยกระทำผิดกฎหมายอีกคนละ 1 ปี เป็นจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 มีกำหนดคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะและข้อหาฐานร่วมกันขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตหวงห้าม คืนเรือหางยาวของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share