คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ไว้ในข้อ 3 ว่า “อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด” นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้เอง ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 12,793,065.18 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 10,291,477.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมตลอดทั้งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,554,346.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 10,291,477.47 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระไปในวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2540 รวมจำนวน 1,064,000 บาท ไปหักชำระเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันที่มีการชำระเงินในแต่ละครั้งก่อน เหลือเท่าใดจึงให้หักชำระเป็นต้นเงิน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2000 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาจำเลย โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าประกาศธนาคารโจทก์ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 การเรียกดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้นั้น เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบและอ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ไว้เป็นพยานหลักฐานแล้ว ซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ระบุว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีระบุไว้แล้วว่าออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ออกข้อกำหนดเรื่อง อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ.2535 ไว้ในข้อ 3 ความว่า “อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด” นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้เอง ซึ่งเมื่อโจทก์ก็ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ถึงมาตรา 6 ซึ่งตามบันทึกรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ก็เป็นไปตามประกาศธนาคารโจทก์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์.

Share