แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญากับค่าเสียหายอื่น ๆ ผู้เช่าซื้อจะชดใช้เงินให้เจ้าของจนครบถ้วน เป็นวิธีการคำนวณค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อมีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าซื้อว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันผิดนัด เงินที่ผิดนัดค้างชำระหมายถึงหนี้เงินที่ผู้เช่าซื้อต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญา แต่ค่าเสียหายในกรณีที่ผู้เช่าซื้อชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลาไม่ใช่หนี้เงินตามที่สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ ศาลจึงบังคับให้ผู้เช่าซื้อชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในค่าเสียหายดังกล่าวไม่ได้ ผู้ให้เช่าซื้อคงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อและค่าเสียหายรวม 1,131,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 263,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 325,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2538 อันเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์เบนซ์ รุ่น อี 280 หมายเลขทะเบียน 3 ฐ – 0454 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 3,560,748 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 60 งวด งวดละเดือน เดือนละ 59,345.80 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 9 มีนาคม 2537 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 9 ของเดือนถัดไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากเช่าซื้อรถยนต์ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันที ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบให้โจทก์ โจทก์ติดตามยึดรถคืนมาได้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2537 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ค่าเสื่อมราคาเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในส่วนนี้เพียง 200,000 บาท เป็นจำนวนที่ต่ำเกินไป ขอให้กำหนดให้โจทก์ใหม่ตามจำนวนที่โจทก์ขอในคำฟ้อง ในข้อนี้นางสาวรัชนี สีม่วง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อโจทก์ยึดคืนมาแล้วรถมีสภาพเสื่อมโทรม หากโจทก์นำรถออกขายจะได้ราคาประมาณ 2,000,000 บาท โจทก์นำออกขายหลายครั้งแล้วแต่ขายไม่ได้ รถยนต์ที่เช่าซื้อราคาเงินสด 2,940,000 บาท ยังขาดราคาอีก 1,323,364.80 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 940,000 บาท เห็นว่า โจทก์มีใบมอบรถและแจ้งสภาพรถตามเอกสารหมาย จ. 7 มาแสดงเป็นพยานหลักฐาน เอกสารดังกล่าวมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ตัวแทนโจทก์ มีการระบุสภาพของรถไว้ขณะส่งมอบว่า มีรอยขีดข่วนทั้งคัน เบาะและคอนโซลภายในรถมีรอย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อโดยไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร จึงเชื่อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเสื่อมราคาลงไปมากกว่าการใช้งานตามปกติ แต่ตามใบมอบรถและแจ้งสภาพรถเอกสารหมาย จ. 7 ไม่ปรากฏว่ามีรอยบุบหรือชำรุดเสียหาย ทั้งสภาพเครื่องยนต์และช่วงล่างก็ไม่ผิดปกติ จึงไม่น่าจะทำให้รถยนต์ที่เช่าซื้อราคาเสื่อมลงมาถึงที่โจทก์อ้าง ส่วนสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ที่ระบุว่า ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาเช่าซื้อ ที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้ กับค่าเสียหายอื่น ๆ ผู้เช่าซื้อจะชดใช้เงินให้เจ้าของจนครบถ้วน นั้น เป็นวิธีการคำนวณค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้มาจำนวน 940,000 บาท เห็นว่าสูงเกินส่วน และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 200,000 บาท ก็เป็นจำนวนที่ต่ำเกินไป ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ใหม่เป็นเงิน 350,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์มีเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เดือนละ 40,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 120,000 บาท นั้น ยังต่ำกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่มาก ขอให้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ใหม่ ในข้อนี้นางสาวรัชนีพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ โจทก์ต้องติดตามยึดรถยนต์คืนมาได้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2537 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าเดือนละ 62,060 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 186,180 บาท เห็นว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์เก๋งมีราคาแพง น่าจะนำออกให้เช่าได้ในราคาสูงพอสมควร แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเดือนละ 62,060 บาท นั้น สูงกว่าราคาค่าเช่าซื้อแต่ละงวด ทั้งที่ราคาค่าเช่าซื้อแต่ละงวดนั้นก็มีค่าซื้อทรัพย์รวมค่าเช่าและผลประโยชน์ด้วย ดังนั้น ค่าเสียหายต่อเดือน ที่โจทก์เรียกร้องจึงสูงเกินไป ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เดือนละ 40,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 120,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันผิดนัด จึงขอให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เห็นว่า เงินที่ผิดนัดค้างชำระตามที่กล่าวถึง หมายถึงหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญา แต่ค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลาไม่ใช่หนี้เงินตามที่สัญญาเช่าซื้อข้อ 9 ระบุไว้ จึงบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในค่าเสียหายดังกล่าวดังที่โจทก์ฎีกาไม่ได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เท่านั้น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 475,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.