คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดงวดงานในสัญญาจ้างโดยผิดนัดตั้งแต่ งวดที่ 2ถึงงวดที่ 4 และได้เสียค่าปรับให้โจทก์ไปแล้ว 110 วันวันละ 797 บาท สำหรับงวดที่ 5 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ลงมือก่อสร้างเลย ตามพฤติการณ์การทำงานของจำเลยโจทก์น่าจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายในกำหนดและคงทิ้งงานงวดสุดท้าย ซึ่งโจทก์ควรจะใช้สิทธิยกเลิกสัญญาเสียภายในหนึ่งถึงสองเดือน อันเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่โจทก์กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลย ไปกว่า 6 เดือน จึงบอกเลิกสัญญา เป็นความล่าช้าในการ ดำเนินงานของโจทก์เองด้วยส่วนหนึ่งประกอบกับจำเลยได้ชำระ ค่าปรับแก่โจทก์ไปแล้วถึง 110 วัน วันละ 797 บาท ทั้งโจทก์ ก็ไม่ได้นำสืบว่าการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ทำงาน งวดสุดท้ายทำให้โจทก์เสียหายมากเพียงใด ดังนี้พิเคราะห์ ทางได้เสียของโจทก์แล้ว ค่าปรับ 196 วัน วันละ 797 บาท ตามข้อตกลงในสัญญานั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอ สมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 การที่ ศาลลดค่าปรับลงเหลือวันละ 500 บาท เป็นเวลา 196 วัน เป็นเงิน 98,000 บาท นั้นเป็นการเหมาะสม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารโรงเรียนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาจ้าง ซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันเสียค่าปรับวันละ 797 บาท ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญานับแต่วันครบกำหนดแล้วเสร็จถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา196 วัน เป็นเงิน 156,212 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 41,872.31 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น198,084.31 บาท
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์จำนวน 98,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2529 (ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวอันเป็นวันผิดนัด) จนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 9สิงหาคม 2527 โจทก์จ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์1 หลังที่โรงเรียนบ้านแม่จั๊วะ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัยจังหวัดแพร่ ราคา 797,000 บาท โดยแบ่งงานและการจ่ายค่าจ้างออกเป็น 5 งวด กำหนดสร้างให้เสร็จภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528หากไม่เสร็จจำเลยยอมให้ปรับวันละ 797 บาท แต่จำเลยที่ 3 ทำงานไม่เสร็จตามสัญญา ตั้งแต่งานงวดที่ 2 ถึงที่ 4 และยอมเสียค่าปรับไปแล้วรวม 110 วัน วันละ 797 บาท ส่วนงานงวดที่ 5 จำเลยที่ 3ไม่ได้จำเลย โจทก์ประกาศยกเลิกสัญญาจ้าง วันที่ 17 ธันวาคม 2528และแจ้งการบอกเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้วพร้อมทั้งทวงถามให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าปรับก่อนสัญญาเลิกกันเป็นเวลา196 วัน วันละ 797 บาท รวมเป็นเงิน 156,212 บาท
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องถูกปรับวันละ 797 บาท ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดงวดงานในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6โดยได้ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 4 และได้เสียค่าปรับให้แก่โจทก์ไปแล้ว 110 วัน วันละ 797 บาท สำหรับงวดที่ 5 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ลงมือก่อสร้างเลย ตามพฤติการณ์การทำงานของจำเลยดังกล่าว โจทก์น่าจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายในกำหนดและคงทิ้งงานสุดท้าย ซึ่งโจทก์ควรจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเสียภายในหนึ่งถึงสองเดือนอันเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่โจทก์หาได้บอกเลิกสัญญาไม่ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปกว่า 6 เดือน จึงบอกเลิกสัญญาเป็นการแสดงให้เห็นความล่าช้าในการดำเนินงานของโจทก์เองด้วยส่วนหนึ่งประกอบกับจำเลยได้ชำระค่าปรับแก่โจทก์ไปแล้วถึง 110 วัน วันละ 797 บาท ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ทำงานงวดสุดท้ายทำให้โจทก์เสียหายมากเพียงใด พิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วเห็นว่าค่าปรับ 196 วัน วันละ 797 บาท ตามข้อตกลงในสัญญานั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลดค่าปรับลงเหลือวันละ 500 บาท เป็นเวลา 196 วัน เป็นเงิน 98,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share