คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาร่วมลงทุนดำเนินการขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย โดยโจทก์ได้มอบยานพาหนะให้จำเลยควบคุมดูแลรักษาใช้งาน มีกำหนด 60 เดือน นับแต่วันส่งมอบ ยานพาหนะ ทั้งนี้โดยจำเลยต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,400,000 บาท ตามสัญญาร่วม ลงทุนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ต่อมาโจทก์และจำเลยได้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว โดยโจทก์ตกลง ยินยอมให้ลดค่าตอบแทนลงเหลือเดือนละ 2,000,000 บาท ตั้งแต่งวดที่ 30 ประจำเดือนตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญา ซึ่งตามรายละเอียดแนบท้ายที่พิพาทข้อ 11.3 ว่าในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะ เปลี่ยนแปลงสัญญาจากการร่วมลงทุนเป็นการซื้อ – ขาย เงินสดแทน จำเลยจะต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือ ทั้งหมดจนวันสิ้นอายุสัญญาบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ 8.5 นอกจากนี้แล้วสัญญาข้อ 8.6 ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะซื้อหรือไม่ซื้อยานพาหนะตามมูลค่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 8.5 จำเลยจะต้องแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญา และสัญญาข้อ 8.7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยตกลงจะซื้อยานพาหนะทั้งหมดหรือบางส่วนตามข้อ 8.5 จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้จากโจทก์ ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาของ ยานพาหนะดังกล่าวภายในกำหนด ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนถึงวันที่โจทก์ได้รับการชำระเงิน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ยอมขายยานพาหนะที่จำเลยได้แจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรตกลงจะซื้อจากโจทก์แต่อย่างใดเลยจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ให้คำมั่นว่าจะขายยานพาหนะพิพาทให้จำเลยเมื่อจำเลยแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุน โดยจำเลยต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือทั้งหมด จนถึงวันสิ้นอายุสัญญาบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ 8.5 เป็นราคาของ ยานพาหนะพิพาทให้แก่โจทก์ การที่จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นการซื้อขาย อันเป็นการแจ้งแก่โจทก์เช่นนั้นก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 90 วัน แล้ว สัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นทันทีที่คำบอกกล่าวนั้นไปถึงโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง และเมื่อสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว กรรมสิทธิ์ในยานพาหนะพิพาททั้งหมดย่อมโอนไปยังจำเลยผู้ซื้อตั้งแต่ขณะที่เกิดสัญญาซื้อขายนั้นขึ้นจากการที่โจทก์ได้รับคำบอกกล่าวแสดงความจำนงจะซื้อยานพาหนะพิพาทของจำเลยตาม ป.พ.พ มาตรา 458 แล้ว
เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิตามสัญญาร่วมลงทุนแจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นสัญญาซื้อขายตามหนังสือของจำเลย ทำให้เกิดสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมมีหนี้ที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้น โดยจำเลยต้องชำระค่าตอบแทนส่วนที่เหลือทั้งหมดจนถึงวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุน บวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยขอให้โจทก์รับเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือจำนวน 14,000,000 บาท และมูลค่าคงเหลือของ ยานพาหนะพิพาทจำนวน 6,534,580 บาท รวมเป็นเงิน 20,534,580 บาท จากจำเลยพร้อมกับโอนทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลยแต่โจทก์กลับขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยโดยยังไม่ยอมโอนหรือส่งมอบทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้จำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งจะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ไม่เสนอที่จะชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงกระทำ โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 210 โดยจำเลยมีสิทธิที่จะไม่ยอมชำระหนี้ของตนจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ของโจทก์โดยการส่งมอบทะเบียนยานพาหนะพิพาทหรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ด้วย และเมื่อโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดเช่นนี้แล้ว โจทก์ก็ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 221 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อผู้ขายต้องออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 นั้นหมายถึง ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ซึ่งการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายเช่นนั้น แต่สัญญาขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเกิดจากการที่จำเลยแจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นสัญญา ซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 457 ดังนั้นเมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบหรือโอนทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าว ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการให้จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของยานพาหนะพิพาทในทะเบียนยานพาหนะพิพาทนั้น จึงย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์แต่ผู้เดียวด้วย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,534,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนของยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อของจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการทั้งหมด จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระ ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยเสียค่าใช้จ่ายใน การดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อจำเลยคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ และให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทเป็นชื่อจำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นค่าขึ้นศาลอนาคตสำหรับคำขอให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้แก่โจทก์ และต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับคำขอให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อจำเลยแต่ฝ่ายเดียว กับเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นค่าขึ้นศาลอนาคตสำหรับคำขอให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วยเท่านั้น แต่ปรากฏว่า จำเลยได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 189,302.50 บาท สำหรับทุนทรัพย์จำนวน 7,572,126.97 บาท โดยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท ด้วย และเสียค่า ขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 200,000 บาท สำหรับทุนทรัพย์จำนวน 10,138,948 บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินมา สมควรสั่งคืนแก่จำเลยด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบยานพาหนะทั้งหมดตามฟ้องให้โจทก์ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ จนกว่าจะส่งมอบยานพาหนะให้แก่โจทก์เสร็จเรียบร้อย หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบได้ ให้จำเลยใช้ราคายานพาหนะเป็นเงิน ๕๙,๖๙๖,๖๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระ ค่าตอบแทนค้างชำระ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์รับเงินค่าตอบแทนคงเหลือเป็นเงิน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะเป็นเงิน ๖,๕๓๔,๕๘๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท ไปจากจำเลย ให้โจทก์ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลย โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและมอบทะเบียนยานพาหนะ ดังกล่าวให้แก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในอัตราวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะจัดการโอนทะเบียนยานพาหนะและส่งมอบทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนของยานพาหนะพิพาท ให้เปลี่ยนชื่อของจำเลยโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการทั้งหมด และให้โจทก์มอบทะเบียนยานพาหนะทั้งหมดแก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียน ยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อจำเลยคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๖ โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาร่วมลงทุนดำเนินการขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามสัญญาร่วมลงทุนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา โดยโจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลรักษาและใช้งาน โดยจำเลยตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เดือนละ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดระยะเวลา ๖๐ เดือน นับแต่วันส่งมอบรถ หากจำเลยประสงค์จะซื้อยานพาหนะจะต้องชำระเงินพร้อมค่าตอบแทนส่วนที่เหลือจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาให้โจทก์ภายใน ๓๐ วัน ต่อมาโจทก์และจำเลย ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว โดยโจทก์ยินยอมให้ลดค่าตอบแทนลงเหลือเดือนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่งวดที่ ๓๐ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญา และยกเลิกข้อความเกี่ยวกับมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะ เมื่อสิ้นสุดอายุสัญญา โดยมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาให้คิดค่าเสื่อมราคาตามระเบียบวิธีการวางเงินของรัฐวิสาหกิจหรือทางราชการ ต่อมาวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันสิ้น อายุสัญญากว่า ๙๐ วัน จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นการซื้อขาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเดือนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๑ เป็นต้นไป เพราะกรรมสิทธิ์ในยานพาหนะพิพาททั้งหมดมิได้ตกเป็นของจำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้ เห็นว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ข้อ ๑๑.๓ ว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์เปลี่ยนแปลงสัญญาจากการร่วมลงทุนเป็นการซื้อ – ขาย เงินสดแทน จำเลยจะต้องชำระเงินค่าตอบแทนที่เหลือทั้งหมดจนวันสิ้นอายุสัญญาบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ ๘.๕ นอกจากนี้แล้วสัญญาข้อ ๘.๖ ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะซื้อหรือไม่ซื้อยานพาหนะตามมูลค่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๘.๕ จำเลยจะต้องแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญา และสัญญาข้อ ๘.๗ ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยตกลงจะซื้อยานพาหนะทั้งหมดหรือบางส่วนตามข้อ ๘.๕ จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้จากโจทก์ ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาของยานพาหนะดังกล่าวภายในกำหนด ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนถึงวันที่โจทก์ได้รับการชำระเงิน ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์และจำเลยตกลงเช่นนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้สิทธิ แก่โจทก์ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ยอมขายยานพาหนะที่จำเลยได้แจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรตกลงซื้อ จากโจทก์แต่อย่างใดเลย จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ให้คำมั่นว่าจะขายยานพาหนะพิพาทให้จำเลย เมื่อจำเลยแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุน โดยจำเลยต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือทั้งหมดจนถึงวันสิ้นอายุสัญญา บวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ ๘.๕ เป็นราคาของยานพาหนะพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.๗ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ ถึงโจทก์แจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นการซื้อขาย อันเป็นการแจ้งแก่โจทก์เช่นนั้นก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน แล้วสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่าง
โจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นทันทีที่คำบอกกล่าวนั้นไปถึงโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔ วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมขายยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลยได้ และเมื่อสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว กรรมสิทธิ์ในยานพาหนะพิพาททั้งหมดย่อมโอนไปยังจำเลยผู้ซื้อตั้งแต่ขณะที่ เกิดสัญญาซื้อขายนั้นขึ้นจากการที่โจทก์ได้รับคำบอกกล่าวแสดงความจำนงจะซื้อขายยานพาหนะพิพาทของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๘ แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิตามสัญญาร่วมลงทุนแจ้งเปลี่ยแปลงสัญญาซื้อขายตามหนังสือของจำเลย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ ทำให้เกิดสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมมีหนี้ที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้น โดยจำเลยต้องชำระค่าตอบแทนส่วนที่เหลือทั้งหมดจนถึงวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุนบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลย ดังนั้น เมื่อได้ความว่า จำเลยขอให้โจทก์รับเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือจำนวน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะพิพาทจำนวน ๖,๕๓๔,๕๘๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท จากจำเลยพร้อมกับโอนทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลย แต่โจทก์กลับขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยโดยยังไม่ยอมโอนหรือส่งมอบทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้จำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งจะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลย ไม่เสนอที่จะชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงกระทำ โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๐ โดยจำเลยมีสิทธิที่จะไม่ยอมชำระหนี้ของตนจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ของโจทก์โดยการส่งมอบทะเบียนยานพาหนะพิพาทหรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๖๙ ด้วย และเมื่อโจทก์ ตกเป็นผู้ผิดนัดเช่นนี้แล้ว โจทก์ก็ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๑ จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่อย่างใด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทเป็นชื่อจำเลยหรือไม่ ในปัญหานี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามสัญญาที่โจทก์และจำเลยกระทำไว้ต่อกันมิได้กำหนดการออกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ไว้ จึงต้องปฏิบัติต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๗ เห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อผู้ขายต้องออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๗ นั้นหมายถึง ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตัน ขึ้นไป ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายเช่นนั้น แต่สัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเกิดากการที่จำเลยแจ้งเปลี่ยแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ วรรคหนึ่ง ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา ๔๕๗ แต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อโจทก์มีหน้าที่ส่งมอบหรือโอนทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้แก่จำเลย ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าว ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการให้จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของยานพาหนะพิพาทในทะเบียน ยานพาหนะพิพาทนั้น จึงย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์แต่ผู้เดียวด้วย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนของยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อของจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการทั้งหมด จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพามให้เป็นชื่อจำเลยคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ และให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทเป็นชื่อจำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นค่าขึ้นศาลอนาคตสำหรับคำขอให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ และต้องเสีย ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับคำขอให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนยานพาหนะพิพาทให้เป็น ชื่อจำเลยแต่ฝ่ายเดียว กับเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นค่าขึ้นศาลอนาคตสำหรับคำขอให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่ วันฟ้องเป็นต้นไปด้วยเท่านั้น แต่ปรากฏว่าจำเลยได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน ๑๘๙,๓๐๒.๕๐ บาท สำหรับทุนทรัพย์จำนวน ๗,๕๗๒,๑๒๖.๙๗ บาท โดยเสียค่าขึ้นศาลอนาคต ๑๐๐ บาทด้วย และเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับทุนทรัพย์จำนวน ๑๐,๑๓๘,๗๔๘ บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินมา ศาลฎีกาเห็นสมควร สั่งคืนแก่จำเลยด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินจำนวน ๒๐,๕๓๔,๕๘๐ บาท แก่โจทก์ และให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนของยานพาหนะพิพาทให้เป็นชื่อของจำเลยคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมาให้จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share