คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลเชื่อว่า จำเลยได้ถูกบันทึกเสียงไว้ถึง 6 ครั้ง ยากที่จะมีใครมาเลียนเสียงที่จำเลยพูดได้เป็นชั่วโมงๆ ไม่ใช่ว่าศาลชั้นต้นจะรับฟังลำพังแต่เทปอัดเสียงของจำเลยมาลงโทษจำเลยก็หาไม่ ศาลเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้อัดเสียงจำเลยไว้จริง จึงไม่ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
โจทก์ไม่ทราบว่ามีเอกสาร ล.1 ที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยนำมาแสดงชั้นพิจารณา โจทก์เห็นว่าน่าจะเป็นเอกสารปลอม โจทก์ย่อมมีสิทธิขออนุญาตศาลส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ได้ตามมาตรา 125 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยมาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จำเลยอ้างสำนวนความของศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อแสดงว่าจำเลยมีฐานที่อยู่เพราะจำเลยปฏิบัติงานอยู่ ดังนั้น การที่ศาลจับพิรุธที่ปรากฏได้ในบางสำนวนแล้วไม่เชื่อว่าเป็นความจริงว่าจำเลยได้อยู่ปฏิบัติงานในวันนั้นๆ ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะชั่งน้ำหนักคำพยาน หาใช่ทำการพิสูจน์โต้แย้งแทนโจทก์ไม่
จำเลยนำเอกสารมาซักค้านพยานโจทก์ก่อนเวลาที่จำเลยอ้างและนำสืบเพื่อสะดวกแก่การจด ศาลให้จำเลยส่งเอกสารนั้นทั้งหมดโดยศาลจดรายงานไม่ให้โจทก์คัดจนกว่าจำเลยจะอ้าง ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เสียความยุติธรรมแต่อย่างใด
การที่โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มอีก โดยพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่าถ้าไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้อง ก็ให้เตรียมตัวเข้าคุก ดังนี้ เป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตามจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม เป็นความผิดตามมาตรา 337 (ปัญหาสุดท้ายพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางมณีวรรณร่วมกันกระทำผิดหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ คือ ก. ระหว่างวันที่ 1-29 มิถุนายน2502 วันเวลาไม่ปรากฏชัดจำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีหนึ่งล้านบาท กล่าวแก่นายทองดีว่า คดีอาญาซึ่งนายทองดีและนายเกษมต่างเป็นโจทก์จำเลยฟ้องกันอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกานั้น จำเลยรับจะจัดการให้เรียบร้อยเพราะจำเลยชอบพอกับนายจรูญฯรองปลัดกระทรวงฯ นายจรูญฯ ชอบพอสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหลวงจำรูญฯ ประธานศาลฎีกา จำเลยกับนายจรูญรับจะจัดการให้นายทองดีชนะโดยขอร้องให้หลวงจำรูญฯ จ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาที่เป็นคนตรงที่สุด คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ หรือผู้พิพากษาที่เป็นคนพูดกันได้ก็ต้องชนะ โดยนายทองดีไม่ต้องถูกจำคุก 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายเกษมก็จะต้องเข้าคุกไป ถ้าตกลงต้องจ่ายเงินสดให้จำเลย 500,000 บาท ที่เหลือจ่ายเมื่อชนะคดี วันที่ 30 มิถุนายน 2502 นายทองดีได้มอบเงิน 500,000 บาทให้จำเลยรับไปเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยและนายจรูญฯ จะจูงใจหลวงจำรูญเจ้าพนักงานโดยวิธีทุจริตผิดกฎหมายและโดยอิทธิพลของตนเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลฎีกากระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่อันเป็นคุณแก่นายทองดี เป็นโทษแก่นายเกษม

ข. ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2502 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2503 วันเวลาไม่ปรากฏชัดจำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีเพิ่มขึ้นจากที่เรียกไว้เดิม โดยกล่าวแก่นายทองดีว่า จำเลยและนายจรูญจะทำคดีให้เสร็จไปโดยไม่ให้นายทองดีต้องถูกจำคุก ขอเรียกเพิ่มอีก 700,000 บาท รวมที่ค้างเป็น 1,200,000 บาท ถ้าไม่ตกลงเป็นอันเลิกกันไป นายทองดีกลัวไม่กล้าปฏิเสธ แต่ขอร้องให้จำเลยจัดการแสดงวิธีที่จะให้คดีเสร็จไปได้เอามาดูก่อน ครั้นวันที่ 1-19 กรกฎาคม 2503 จำเลยและนางมณีวรรณได้ร่วมกระทำผิดบังอาจร่วมกันเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีโดยจำเลยให้นางมณีวรรณนำจดหมายของจำเลยไปให้นายวิโรจน์ทนายความประจำของนายทองดีดู และจดข้อความไว้เพื่อนำไปบอกนายทองดีมีใจความว่า จะให้หลวงจำรูญฯ จ่ายสำนวนให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ทำไม่ได้ นายสัญญาจะต้องปฏิเสธไม่รับทำเด็ดขาด จึงจะจัดการจ่ายให้ผู้พิพากษาที่นายทองดีประสงค์ และให้นายทองดีติดต่อกันเอง หรือให้หลวงจำรูญฯ จ่ายให้เอง นายทองดีอยู่เฉย ๆ อย่าวิ่งเต้นรับรองจะให้นายเกษมถูกลงโทษเด็ดขาดจะจัดให้เสร็จใน 3 เดือน ค่าจัดการ 1,200,000 บาท ให้คนกลางยึดถือไว้ ให้ตอบด่วนมิฉะนั้นจะไม่ปลอดภัย วันที่ 20-21-22 กรกฎาคม 2503 จำเลยบังอาจเรียกทรัพย์สินจากนายทองดีโดยกล่าวแก่นายทองดีย้ำความดังกล่าวแล้ว แต่นายทองดียังไม่ตกลงคงขอให้ 500,000 บาท ตามที่ตกลงไว้เดิม วันที่ 23 กรกฎาคม 2503 จำเลยได้แจ้งแก่นายวิโรจน์ทนายความประจำตัวนายทองดีให้บอกนายทองดีในลักษณะข่มขืนใจโดยขู่เข็ญว่า นายจรูญฯ จะเอาค่าจัดการอีก 1,200,000 บาท ถ้าไม่ได้จะคืนเงิน 500,000 บาทที่รับไปแล้ว ขอให้นายทองดีเตรียมตัวเข้าคุก วันที่ 24 เดือนเดียวกันจำเลยบังอาจข่มขืนใจโดยขู่เข็ญเรียกเงินค่าจัดการดังกล่าว หากไม่ตกลงนายทองดีจะต้องถูกเล่นงาน (หมายความว่าถูกศาลฎีกาจำคุก) นายทองดีกลัว จึงจำต้องยอมรับว่าจะจ่ายให้แก่จำเลย 700,000 บาท เพิ่มจากเดิม 200,000 บาท และในวันนั้นเองจำเลยโทรศัพท์มาเรียกเอาเงินจากนายทองดีอีกว่า นายจรูญฯ ยอมลดค่าจัดการให้เพียง 900,000 บาท นายทองดีคงยอมให้ 700,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2503 จำเลยและนางมณีวรรณบังอาจข่มขืนใจโดยขู่เข็ญนายทองดี กล่าวคือ ให้นางมณีวรรณนำจดหมายของจำเลยสองฉบับมาให้นายวิโรจน์ดูเพื่อนำข้อความในจดหมายไปบอกนายทองดี มีใจความฉบับหนึ่งว่า นายทองดีจะยอมตกลงให้ค่าจัดการที่นายจรูญเรียกในราคา 900,000 บาท แต่อาจขอร้องหักคอลด 850,000 บาทหรือไม่ ถ้าไม่ตกลงนายทองดีจะต้องเข้าคุก เมื่อติดคุกมิใช่ว่าจะไม่เสียเงิน ฯลฯ อีกฉบับหนึ่งมีใจความกล่าวถึงวิธีการจ่ายเงินตามที่ตกลงนายวิโรจน์ได้นำความบอกนายทองดี นายทองดีขอพบนางมณีวรรณแล้วยึดเอาจดหมาย 2 ฉบับนี้ไว้เป็นพยานหลักฐานการกระทำของจำเลยและนางมณีวรรณเป็นการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนที่จะจูงใจเจ้าพนักงาน โดยวิธีการอันทุจริตผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพล และเป็นการข่มขืนใจ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพชื่อเสียง และทรัพย์สินของนายทองดีเพื่อให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินแก่จำเลยอีก 850,000 บาท จนผู้ถูกข่มขืนจำต้องตกลงยอมจะให้เงินแก่จำเลย 700,000 บาท

ค. การกระทำตามข้อ ก., ข. จำเลยมีเจตนาทำร้ายนายทองดีจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จิตใจ ทำให้นายทองดีเกิดความหวาดกลัววิตกกังวล เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาเศร้าซึม (Depressive Reaction) ทำให้สมทบกับโรคความดันโลหิตสูงอาจเป็นอัมพาตและหลอดเลือดในสมองแตก อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143, 295, 337

นายทองดีขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา 295, 337ศาลอนุญาต

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ประทุษร้ายนายทองดีแต่การกระทำของจำเลยเป็นการต่อเนื่องกันในการเรียกร้องเอาเงินค่าจัดการจนได้รับเงิน 500,000 บาทไปผิดตามมาตรา 143 ไม่ผิดมาตรา 337 ฐานกรรโชก พิพากษาว่าจำเลยผิดมาตรา 143 จำคุก 2 ปีและปรับ 10,000 บาท โทษจำคุก รอการลงโทษ 5 ปี

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า นอกจากผิดตามมาตรา 143 แล้วยังผิดฐานกรรโชกตามมาตรา 337 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกสำหรับกระทงนี้ 2 ปี เมื่อศาลลงโทษจำเลยสองกระทง ซึ่งรวมโทษจำคุกเกินสองปี กรณีไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 56 จึงไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยได้รับเงินจากนายทองดีโจทก์ร่วมไปจริง 500,000 บาทดังโจทก์ฟ้อง และจำเลยได้ขู่เข็ญเรียกเอาเงินจากโจทก์ร่วมเพิ่มขึ้นจากที่ได้ตกลงไว้เดิมในลักษณะข่มขืนใจ ขู่เข็ญโจทก์ร่วม ถ้าไม่ให้ก็จะต้องถูกจำคุกดังโจทก์ฟ้อง โดยเชื่อเป็นความจริงว่าจำเลยได้ถูกบันทึกเสียงไว้ถึง 6 ครั้ง ยากที่จะมีใครมาเลียนเสียงที่จำเลยพูดได้เป็นชั่วโมง ๆ ทั้งจำเลยไม่มีพยานสืบหักล้างในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าศาลชั้นต้นจะรับฟังลำพังแต่เทปอัดเสียงของจำเลยมาลงโทษจำเลยก็หาไม่ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าโจทก์ร่วมได้อัดเสียงจำเลยไว้จริงจึงไม่ขัดมาตรา 226 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อที่จะให้รับฟังว่าจำเลยได้เป็นคนกลางเข้าไกล่เกลี่ยให้นายทองดีกับนายเกษมระงับข้อพิพาทโดยหันเข้าประนีประนอมกันเสีย จำเลยได้อ้างเอกสารชิ้นสำคัญคือ เอกสาร ล.1 เป็นพยาน ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่เคยเอาต้นฉบับสัญญาประนีประนอมไปแสดงต่อพนักงานสอบสวนเลยทั้งที่อ้างว่าจะนำไปแสดงในวันหลัง แต่แล้วไม่เอาไปแสดง ดังนี้จะให้โจทก์ทราบมาก่อนได้อย่างไรว่ามีเอกสาร ล.1 และเมื่อจำเลยนำมาแสดงในชั้นพิจารณา ซึ่งทางโจทก์ก็เห็นว่าเอกสาร ล.1 นี้น่าจะเป็นเอกสารปลอม โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิขออนุญาตศาลส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ได้ตามมาตรา 125 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยมาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำนวนความต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างอิงเพื่อจะหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์โดยจะแสดงว่าจำเลยมีฐานที่อยู่ที่ศาลจังหวัดปัตตานีในวันนั้น ๆ เพราะจำเลยอยู่ปฏิบัติงาน แต่ก็ปรากฎว่าสำนวนความต่าง ๆ จำเลยอ้างส่งศาลภายหลังเมื่อสืบพยานโจทก์ร่วมเสร็จไปแล้ว ดังนี้ จะให้โจทก์นำพยานมาสืบหักล้างโต้แย้งได้อย่างไร และที่ศาลชั้นต้นจับพิรุธที่มีปรากฏได้ในบางสำนวนนั้นแล้ว ไม่เชื่อเป็นความจริงว่าจำเลยจะได้อยู่ปฏิบัติงานในวันนั้น ๆ ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะชั่งน้ำหนักพยานหาใช่ทำการพิสูจน์โต้แย้งแทนโจทก์ดังจำเลยฎีกาไม่

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอาญาบังคับให้จำเลยส่งจดหมายและโทรเลข (เอกสาร ล.19-40) ซึ่งจำเลยนำมาซักค้านพยานโจทก์ก่อนเวลาที่จำเลยอ้างและนำสืบ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารดังกล่าว ศาลได้สอบจำเลยว่าจะส่งศาลหรือไม่ จำเลยว่าอาจส่งตอนสืบพยานจำเลย เอกสารดังกล่าวนี้ พยานโจทก์ก็ตอบปฏิเสธเมื่อจำเลยให้พยานดูตอนที่อัยการโจทก์ติงพยานเพื่อความสะดวกแก่การจด ศาลจะให้จำเลยส่งเอกสารที่โจทก์ติงทั้งหมดต่อศาล โดยศาลจดรายงานไม่ให้โจทก์คัดจนกว่าจำเลยจะอ้าง ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าไม่เสียความยุติธรรมแต่อย่างใด และที่ศาลสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนเดิมรักษาเทปอัดเสียงไว้ ไม่อนุญาตให้จำเลยถ่ายทอดเสียงไว้เป็นสำเนาก็ย่อมชอบด้วยความยุติธรรมแล้ว เพราะศาลไม่มีหน้าที่จำต้องเก็บรักษาส่วนการที่จำเลยจะขอถ่ายทอดเสียงก็ไม่จำเป็นศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามมาตรา 143 ชอบแล้ว

ส่วนปัญหาตามมาตรา 337 ฟังได้ว่า หลังจากที่นายทองดีโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยได้ตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกโดยจำเลยทั้งพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าโจทก์ร่วมไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ให้เตรียมตัวเข้าคุกการกระทำของจำเลยดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 200,000 บาท รวมทั้งที่ค้างอยู่เดิมเป็น 700,000 บาท จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เงินเพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตาม โจทก์ร่วมจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม ตามมาตรา 337

พิพากษายืน

Share