คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อน ย. มารดาโจทก์ ฟ้องจำเลยอ้างว่านายอำเภอประกาศหวงห้ามที่ดินซึ่งไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ทำให้การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ชอบและขอให้เพิกถอนประกาศและหนังสือสำคัญดังกล่าว โดยจำเลยในคดีก่อนให้การว่า ย. ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินหวงห้ามที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่า ย. ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากป. ที่ดินฯ ใช้บังคับ ย. จึงไม่ได้สิทธิครอบครองทั้งการครอบครองของ ย. มิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ย. ไม่มีอำนาจฟ้อง ฉะนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ย. มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อปี 2477 นางยิ้ม มณีรัตน์ มารดาโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ตำบลวัดใหม่ (ตำบลตลาด) อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ต่อมาปี 2487 คณะกรรมการอำเภอเมืองจันทบุรีโดยนายอำเภอเมืองจันทบุรีได้ออกประกาศหวงห้ามที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ใช้ในราชการโดยมิได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ประกาศดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะการได้มาซึ่งที่ราชพัสดุของจำเลยโดยอาศัยการออกประกาศนั้นย่อมเป็นการได้มาโดยมิชอบ มารดาโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจนถึงแก่ความตายเมื่อปี 2533 และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้เพิกถอนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของจำเลยในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน 13633 (จ.บ.5) ตำบลวัดใหม่ (ตำบลตลาด) อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

จำเลยให้การว่า จังหวัดจันทบุรีครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนปี 2478 ต่อมาปี2487 คณะกรรมการอำเภอเมืองจันทบุรีได้ออกประกาศหวงห้ามที่ดินพิพาทไว้ใช้ในราชการ ในปี 2497 ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ และปี 2499 ทางราชการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้อยู่ในความดูแลของจำเลย นางยิ้มมารดาโจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทมาแล้ว ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 2341/2538 ว่า ในปี 2499 นางยิ้มยังไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้จะเข้าครอบครองในเวลาต่อมาก็เป็นการครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ และจำเลยเคยฟ้องขับไล่นางยิ้มกับพวกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 786/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้นางยิ้มกับพวกและบริวารย้ายที่พักอาศัยตลอดถึงทรัพย์สินใด ๆ ออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว การฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144, 148 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2487 คณะกรรมการอำเภอเมืองจันทบุรีออกประกาศที่ 123 หรือ 128/2487 หวงห้ามที่ดินพิพาท ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ไว้ใช้ในราชการต่อมาปี 2497 จำเลยขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ 12633 และในปี 2499 ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ที่ดินพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลย ต่อมานางยิ้มมารดาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยกับพวกศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าในปี 2499 นางยิ้มยังไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท แม้นางยิ้มเข้าไปครอบครองในเวลาต่อมา แต่เป็นเวลาภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว นางยิ้มจึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และการยึดถือครอบครองของนางยิ้มดังกล่าวมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 นางยิ้มจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2538

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2538 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยอาศัยสิทธิของโจทก์จนกระทั่งปัจจุบันโจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากนางยิ้ม มณีรัตน์ ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ ฎีกาของโจทก์จึงขัดกับที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ข้อเท็จจริงต้องฟังตามคำฟ้องว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากนางยิ้มเป็นการสืบสิทธิกันมา เมื่อได้ความว่านางยิ้มเคยยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดจันทบุรี อ้างว่านางยิ้มครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2477 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2487 นายอำเภอเมืองจันทบุรีประกาศหวงห้ามที่ดินตามประกาศที่ 123 หรือ 128/2487 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยโดยอาศัยประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนประกาศและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 4710 จำเลยให้การว่า นางยิ้มไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามไว้ใช้ในราชการ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า นางยิ้มยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นางยิ้มจึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และการยึดถือครอบครองของนางยิ้มมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 นางยิ้มจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2538 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนางยิ้มฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เห็นได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นางยิ้มครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว นางยิ้มจึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และการยึดถือครอบครองที่ดินของนางยิ้มมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิต่อจากนางยิ้ม โจทก์จึงไม่มีสิทธิดีไปกว่านางยิ้ม ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการได้ที่ดินราชพัสดุของจำเลยมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเหนือจำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ ถือได้ว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์และคืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share